วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

จากนี้…จนสิ้นลม

เก็บมาเล่า: แนวคิดการบริหารเงิน

          ผมเชื่อว่า สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีสมาชิกสามัญจำนวน 8,230 คน และสมาชิกสมทบ จำนวน 2,071 คน ส่วนใหญ่ฝากเงินไว้กับ สอ.มก. เพราะเงินฝาก เมื่อสิ้นปี 2554 มีจำนวนรวมถึง 11,179 ล้านบาท มีทุนเรือนหุ้น รวม 4,387 ล้านบาท และมีสมาชิกกู้ จำนวน 3,504 ล้านบาท ผมเป็นสมาชิก สอ.มก. มาตั้งแต่เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ สอ.มก. เสมือนเป็นสถาบันการเงินของครอบครัว จนเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังกลับมาใช้บริการของ สอ.มก. อยู่ แต่ผมจะกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพราะเงินที่เก็บออมมา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องบริหารจัดการเงินออมนั้น ให้เกิดดอกผลตามสมควร และจัดเก็บไว้ในที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ และหากสามารถบริหารเงินออมให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือเอาชนะเงินเฟ้อได้ก็จะดีที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นเงินที่เราเก็บออมไว้จะมีมูลค่าน้อยลง น้อยลง .. อย่างเช่น ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเราอยู่ที่ ร้อยละ 4 หากเราเอาเงินออมทั้งหมดฝากไว้กับ สอ.มก. ซึ่งให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษจะอยู่ที่ร้อยละ 2.75 - 3.75 มูลค่าเงินในอนาคตของเราจะลดลง..ลดลง นอกจากที่พวกเราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการซื้อประกันชีวิต การลงทุนในกองทุน RMF และ LTF ที่สามารถนำเงินลงทุนแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารต่างๆ ออกมา เสนอผลตอบแทนที่น่าสนใจให้เลือก เช่น ที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส) เคยเปิดรับฝากเงิน จากผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เรียกชื่อว่า เงินออมเกษียณสุขใจ ระยะเวลา 3 ปี ให้ดอกเบี้ยเป็นขั้นบันไดร้อยละ 3.5 - 6 โดยไม่เสียภาษี สมาชิก สอ.มก. ที่เกษียณอายุราชการ ส่วนหนึ่งเมื่อได้เงินก้อนจาก กบข. หรือได้รับเงินบำเหน็จตกทอด อาจจะหนักใจว่าจะเอาเงินที่ได้รับไปบริหารจัดการอย่างไรดี เงินก้อนนี้จึงจะอยู่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้เราได้กิน ได้ใช้ไปตลอดระยะเวลาในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุโดยไม่ต้องไปพึ่งพาลูกหลานโดยทั่วไป นักวางแผนทางการเงิน แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน แบ่งเงินเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1) เงินที่กันไว้เป็นสภาพคล่องให้เพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ 2) เงินส่วนที่เหลือซึ่งจะใช้เพื่อการลงทุน การลงทุนก็มีความหลายหลายแล้วแต่ความถนัดหรือความชอบของแต่ละบุคคล และขึ้นอยู่กับว่าเรามีเงินมากน้อยแค่ไหนบางคนมีเงินเหลือมากก็อาจจะบอกว่าลงทุนที่ดินดีที่สุดในระยะยาว ถ้าเป็นเงินเย็นอาจจะซื้อที่ดินแต่ต้องเป็นที่ดินที่ทำเลดีจริงๆ เพราะคนรุ่นผมที่เคยซื้อที่ดินจัดสรรแบบสวนเกษตร เมื่อ 30 ปีก่อน จนบัดนี้ราคาที่ดินก็ไม่ได้เพิ่มมูลค่าเท่าไรกลายเป็นที่ดินว่างเปล่าที่รกร้าง ไม่ได้เป็นสวนเกษตรอย่างที่คิด
เมื่อก่อนมีเงินเหลือเก็บ คนก็มักจะซื้อทองรูปพรรณ เพราะถ้าจะซื้อทองแท่งก็ต้องใช้เงินมาก และต้องไปซื้อที่ร้านทองแถวเยาวราชจึงจะดี และมีภาระหาที่เก็บทอง แต่สมัยนี้ มีกองทุนทองคำ ซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ได้หลายแห่ง เริ่มต้นขั้นต่ำครั้งละ 1,000 บาทเท่านั้น มีทั้งกองทุน Gold RMF ที่ลดหย่อนภาษีได้ หรือกองทุนทองธรรมดา ที่สามารถซื้อขายผ่านธนาคารเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องเอาทองมาเก็บไว้ที่บ้าน แต่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ หากสมาชิกท่านใดทราบกรุณาเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างบางคนอาจเข้าไปลงทุนในตลาดเงิน ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ระยะสั้น หรือไปเปิดพอร์ต เพื่อซื้อหุ้นในตลาดทุน ที่มีความเสี่ยงสูงการลงทุนในตลาดทุน (หุ้น) โดยการซื้อหุ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ นั้น ระบบสหกรณ์มูลค่าหุ้นมิได้เพิ่มขึ้น แต่ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลทุกปี เช่น มีหุ้นในสหกรณ์อยู่ 3 แสนบาท ผ่านไป 20 ปี มูลค่าหุ้นก็ยังคงเป็น 3 แสนบาทในขณะที่ในตลาดทุน(หุ้น) ผมรู้จักกับผู้ลงทุนรายหนึ่ง ก่อตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นก่อนเข้า 30 บาทต่อหุ้น ผ่านไป 20 ปี ราคาหุ้นขึ้นไปเป็น หุ้นละ 600 บาท หากผู้ลงทุนมีอยู่ 10,000 หุ้น ลงทุนไป 3 แสนบาท ผ่านไป 20 ปี ผู้ลงทุนมีหุ้นที่อยู่ในบริษัทนี้มูลค่า 6 ล้านบาท ยังไม่รวมกับเงินปันผลที่จ่ายให้ทุกปีตามผลประกอบการอีกด้วย

          ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา Warren Buffett ผู้ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้ร่ำรวยเป็นอันดับที่สองของโลก มีทรัพย์สินอยู่ 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อหุ้น Berkshire Hathaway เมื่อ 47 ปีก่อน มูลค่าหุ้นเพียงหุ้นละ 19 เหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันหุ้นหนึ่งมีมูลค่าถึง 116,914 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการที่จะเป็นแบบนี้ได้ ก็ต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานและอนาคตที่ดี เพราะคนที่ลงทุนในหุ้นจำนวนไม่น้อยประสบความผิดหวังขาดทุนเจ็บตัวก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยการลงทุนในหุ้นนั้นมีผลตอบแทนจากเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น (ลดลงก็ได้) ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีทุนน้อย เวลาจำกัด และไม่ค่อยมีความรู้ความชำนาญในเรื่องตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารต่างๆ ก็มีกองทุนเกี่ยวกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่สมาชิก สอ.มก. สามารถไปซื้อสะสมได้ครั้งละไม่มากนัก และให้ผู้บริหารกองทุนมืออาชีพเป็นคนจัดการแทนเรา
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงแนวทางที่ท่านสามารถบริหารเงินให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษา ค้นคว้า ทำการบ้าน ที่สำคัญที่สุดคือต้องกระจายความเสี่ยง อย่าเอาทุนที่มีอยู่ไปลงทุนที่ใดที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว และต้องไม่โลภมาก ค่อยๆ สะสมไป เพื่ออนาคตที่มั่นคง

ศ. ดร. เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ (6716)

งาน (ไม่) ทำเงิน


          เมื่อผมอุทิศตนเป็น Value Investor เต็มตัว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ เรื่อง ความคิด ที่สำคัญที่สุดก็คือ การมองภาพที่ใหญ่ขึ้นและใหญ่ที่สุดในทุกๆ เรื่อง ผมคิดว่าถ้าภาพใหญ่ถูกต้อง การวิเคราะห์หลังจากนั้นก็ถูกต้อง แม้ในรายละเอียดอาจจะผิดพลาดไปบ้าง ถัดจากนั้น ก็คือเรื่องของการกระทำ นั่นก็คือการเป็น VI สอนให้ผมรู้จักเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง แทนที่จะทุ่มเททำสิ่งที่ผิด หรือไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ด้วยวิธีนี้ เราจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าโดยไม่ต้องเหนื่อยมาก และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นของการทำงานหรืออาชีพของคนเราที่ผมสังเกตเห็นว่า คนบางคนฉลาดหลักแหลม และทำงานหนักมากแต่เขาก็ไม่รวยซักที แต่บางคนไม่ได้มีไอคิวโดดเด่นอะไร ทำงานสบายๆ แต่กลับร่ำรวยกว่ามาก อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น คำตอบของผม คือ เพราะคนแรก ทำงานที่ “ไม่ทำเงิน” ส่วนคนที่สอง ทำงานที่ “ทำเงิน” งานที่ “ไม่ทำเงิน” งานแรกที่ผมจะพูดถึง คือ งานเอเยนซีโฆษณา ซึ่งต้องติดต่อลูกค้าเสนอแนวความคิด และผลิตหนังโฆษณาให้ลูกค้า เป็นงานที่หนักและใช้สมอง และมีความกดดันสูง คนที่ทำงานนี้ต้องทำงานจนดึกดื่นและเครียดสุดๆ แต่เงินเดือนและรายกลับไม่สูง เหตุผลเพราะรายรับที่ได้จากลูกค้าเพียง 10 ล้านบาท แต่ต้องใช้พนักงานและทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้บริษัทจ่ายเงินให้ลูกจ้าง แต่ละคนได้ไม่มาก ตรงกันข้าม คนที่ทำงานเกี่ยวกับการบริหารมีเดีย หรือสื่อโฆษณาให้ลูกค้า ซึ่งอยู่ในธุรกิจเดียวกัน หรือบริษัทเดียวกัน มักทำงานสบายกว่า หน้าที่เขาคือ ซื้อเวลาโฆษณาทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ให้ลูกค้า ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้วในคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่เขาทำอาจจะซ้ำๆ กับงานที่ทำให้กับบริษัทอื่นๆ ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากนักไม่ต้องพูดถึงจำนวนคนที่จะต้องใช้ทำงาน แต่งานมีเดียกลับมีเม็ดเงินสูงมาก การทำแคมเปญแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็น 100 หรือ 200 ล้านบาท เพราะแค่ค่าโฆษณาทางทีวี นาทีละห้าหกแสนบาท และนี่ทำให้งานมีเดียเป็นงานที่ทำเงินให้กับบริษัท และส่งผลต่อมาถึงคนทำด้วยงานด้านการผลิต เช่น การเป็นวิศวกรโรงงาน แม้เป็นงานที่หาง่าย และได้เงินค่อนข้างดีช่วงแรกๆ แต่ระยะยาวคนที่ทำงานด้านการเงิน จะทำเงินมากกว่า ทั้งๆ ที่การเป็นวิศวกร ต้องใช้ความรู้และความสามารถในการคิดคำนวณสูงกว่าและต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า งานหนักกว่า เหตุผล คือ งานด้านการเงิน ใช้คนน้อยกว่า แต่ความสำคัญในแง่บริษัทสูงกว่างานวิศวกรรม บริษัทจึงจ่ายเงินให้แก่ผู้บริหารทางฝ่ายการเงินสูงกว่าทางด้านวิศวกรรมได้ ถ้าพูดถึงงานระดับล่างลงมา เช่น คนงานที่เป็นกรรมกรก่อสร้าง หรือคนงานในโรงงาน จะพบว่าพวกเขามีรายได้ที่น้อยกว่าคนที่ค้าขายหาบเร่ หรือแผงลอยมาก ทั้งๆ ที่ทำงานหนักกว่ามาก และเสี่ยงต่อร่างกายสูงกว่า หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า เหตุผลคงเป็นเรื่องของ “จิตใจ” หรืออารมณ์ความรู้สึก เช่น การรู้สึก “ตากหน้า” ถ้าต้องไปยืนขายของรวมถึงเป็นคนที่ไม่ “กล้าเสี่ยง” หรือ “ไม่มีทุน” หรือไม่มีความสามารถในการ “จัดการ” ที่จะต้องวิ่งไปหาซื้อสินค้ามาผลิตและ/หรือขาย ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คนไม่ทำงานค้าขายทั้งที่รายได้ดีและสบายกว่ามาก ทำนองเดียวกัน อาชีพด้านบริการโดยเฉพาะประเด็นการที่ต้อง “ตากหน้า” ก็ให้ผลตอบแทน หรือรายได้สูงกว่างานกรรมกรหรืองานการผลิต เช่น การเป็นแม่บ้าน หรือการเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร หรือคนดูแลรับรถในสถานบริการหรู ได้รับทิปจากลูกค้าค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับ งานที่มั่นคงมาก มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ไม่ต้องตากหน้าหรือเผชิญกับแรงกดดันจากหัวหน้างาน และได้ผลตอบแทนแน่นอนไม่ขึ้นอยู่กับผลงาน เช่น งานราชการทั่วๆ ไป และงานการเป็นอาจารย์ในสถานศึกษา ไม่ใช่งานทำเงินตรงกันข้าม งานที่มีความไม่แน่นอนของรายได้สูงและต้อง “ตากหน้า” เพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นในลักษณะที่ตนเองดูด้อยกว่า และงานที่ไม่มีเวลาทำงานแน่นอน เช่น งานการเป็นเซลส์แมน งานการเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ตัวแทนขายประกัน คนขายสินค้าแบบขายตรง หรือแบบ “ลูกโซ่” งานเหล่านี้เป็นงานที่ทำเงิน คนที่ทำได้จะรวยได้ ขณะที่คนกลุ่มแรกโอกาสรวยมีน้อยมาก พูดถึงดาราหนัง นักร้อง และคนที่แสดงเพื่อการบันเทิง งานเหล่านี้เป็นงานที่หนัก มีรายได้ไม่แน่นอน ทำงานไม่เป็นเวลา แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่งานที่ทำเงินจริงๆ โดยเฉพาะตัวประกอบ แม้แต่ดาราที่ “มีระดับ” การแสดงก็ไม่ได้ทำเงินได้มากมายอย่างที่คิด สิ่งที่ทำเงินจริงๆ ในวงการนี้ อยู่ที่การได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการโฆษณาสินค้า หรือโชว์ตัวตามอีเวนท์ต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่เบา และใช้เวลาทำน้อย แต่ได้เงินมากกว่าการแสดงมาก นี่อาจคล้ายๆ กับกรณีของเอเยนซีกับการบริหารมีเดีย คือ คุณไม่สามารถจะได้งานพรีเซ็นเตอร์ ถ้าคุณไม่ได้แสดงหนังที่ทำให้คนรู้จักและชื่นชอบการ “ทำเอง” กับการ “ซื้อ” นี่ก็มีประเด็นเรื่องงานทำเงินกับงานไม่ทำเงิน มีเรื่องพูดกันในหมู่นักบริหารที่ต้องการลดต้นทุน ซึ่งคือเรื่องเดียวกับการ “ทำเงิน” ว่า การลดต้นทุนการผลิต ทางหนึ่ง คือ ให้วิศวกรพยายามหาทางลดต้นทุน โดยตัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่การศึกษากระบวนการผลิตอย่างลึกซึ้งว่า แต่ละกระบวนการเราจะปรับปรุงอย่างไรจะช่วยลดต้นทุนได้ แต่ในที่สุดแล้ว ผลมักจะออกมาว่าเราลดได้เพียง 3 - 4% แต่อีกหนทางหนึ่ง คือ อาจจะหาทางใหม่ เช่น แทนที่จะผลิตเอง เราไปซื้อจากคนอื่น หรือไป “ต่อรอง” กับคนที่ขายของ หรือรับทำงานให้เราให้ลดราคาลงมา งานนี้เราใช้คนทำเพียงคนสองคนก็ได้แล้ว และสิ่งที่เรา “ประหยัด” ได้อาจจะ 10 - 15% ดังนั้น จะไปทำงานหลังขดหลังแข็งไปทำไมการลงทุนเป็นความ “สุดยอดของงานทำเงิน” เพราะใช้พลังงานน้อยมากว่า ที่จริงคุณแทบไม่ต้องแม้แต่จะจับปากกา สิ่งที่คุณทำอาจอยู่แต่ในสมอง คนอาจไม่รู้ว่าคุณกำลังทำงานอยู่ แต่ถ้าคุณทำงานนี้ได้ดีมาก ผลตอบแทนจะมหาศาลแน่นอน การลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนได้ต้องมีเงินลงทุน รายได้ขึ้นอยู่กับเงินต้นด้วย ถ้าเงินต้นน้อย การลงทุนอย่างเดียวโดยไม่ทำงานอื่นด้วยก็ยากที่จะทำเงิน ถ้าคุณเป็นคนมีเงินอยู่แล้ว หรือเป็นคนที่จะมีเงินจากทางอื่นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คุณก็ไม่มีเหตุผลจะหลีกเลี่ยงจากการลงทุน ซึ่งเป็นกิจกรรม หรืองานที่ “ทำเงิน” มากๆ นั่นก็คือ ทำงานน้อยแต่เวลาได้เงินได้มากกว่างานอื่นๆ ... มาก

ที่มา: ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร (กรุงเทพธุรกิจ 17 ม.ค. 2555)