วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จัดระบบความคิด (จบ)


จัดระบบความคิด (จบ)

เปิดประเด็นไว้ใน ไอทีไร้พรมแดนวันอังคารที่แล้วถึงเรื่องการคิดแบบ Logical Thinking ซึ่งอาจฟังดูยากแต่จริงๆ แล้วมีเคล็ดลับให้ฝึกคิดสร้างความคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อประยุกต์ใช้ได้กับทั้งหน้าที่การงาน หรือเป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันก็ตาม

เกริ่นไว้ 3 ข้อแรก คือ การ จับประเด็นสำคัญ ที่ทุกวันนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะมีข้อมูลให้ต้องขบคิดต้องตัดสินใจมากเหลือเกิน แต่ในความหลากหลายของข้อมูลนั้น จะพบว่ามีประเด็นสำคัญจริงๆ อยู่ไม่กี่ข้อเท่านั้นซึ่งเราต้องหาให้เจอ ข้อสองคือรู้จัก ใช้สถิติข้อมูลต่างๆ เพื่อแยกแยะข้อมูลออกจากข้อมูลดิบ และข้อสามคือ การคิดให้แตกต่างในหลายๆ มิติ ซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงหรือมีมุมมองอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับการตัดสินใจของเราซุกซ่อนอยู่

ต่อกันในข้อที่สี่ คือ หมั่นตั้งคำถามให้กับตัวเองเสมอ เพราะโดยปกติวิสัยของคนทำงานมักจะทำในสิ่งที่ได้รับคำสั่งมาโดยอัตโนมัติจนแทบจะกลายเป็นเครื่องจักรไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งนิสัยเช่นนี้อาจมีข้อดีตรงที่ทำงานได้เรื่อยๆ ไม่มีอะไรสะดุดติดขัดหากสภาพแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความเป็นจริงนิสัยแบบนี้จะทำให้วิธีคิดไม่ยืดหยุ่น เพราะได้รับแค่คำสั่งแล้วไม่คิดต่อ ซึ่งถ้าผู้นำเป็นเช่นนี้องค์กรจะแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ เราจึงต้องหมั่นถามว่า ทำไม และปล่อยให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นกลไก ทำให้เราแสวงหาวิธีทำงาน แสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

การหิวความรู้และต้องการทราบคำตอบ จะทำให้เกิดการศึกษาที่ไม่หยุดนิ่ง และสร้างแรงบันดาลใจในการค้นคว้าหาคำตอบ ซึ่งคำตอบเหล่านั้นอาจเป็นข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาได้ในที่สุด การเริ่มต้นคิด การเริ่มต้นสงสัยสิ่งต่างๆ จึงเป็นที่มาของ Logical Thinking ให้เราได้

ข้อห้า ต้องหมั่นจดบันทึก เพราะการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยข้อมูลมากมาย ย่อมมีโอกาสหลงลืม หรือสับสนจนเลือกใช้ข้อมูลผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ การจดบันทึกความคิดของเราในช่วงต่างๆ จึงช่วยให้ค่อยๆ ตกผลึกทางความคิด และกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ได้ทีละน้อยๆ จนสมบูรณ์แบบที่สุด

การจดบันทึกยังทำให้มีที่มาที่ไปทางความคิด คือ รู้ว่าเริ่มต้นคิดอย่างไร และวางแผนไว้อย่างไร ฯลฯ ทำให้วิเคราะห์รูปแบบการคิดในภายหลังได้ ซึ่งจะง่ายต่อการนำแนวทางที่คิดไว้ไปทำให้เป็นแผนปฏิบัติงานได้ในภายหลัง

ข้อสุดท้าย ต้องหมั่นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นอยู่เสมอ ทั้งที่มีลักษณะนิสัยคล้ายกัน มีแนวคิดใกล้เคียงกัน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม แต่เท่านี้อาจยังไม่พอเพราะความคล้ายคลึงกันอาจทำให้มีมิติทางความคิดที่ไม่หลากหลายนัก

บางครั้งการคุยกับบุคคลอื่นที่อยู่ต่างสาขาวิชาชีพ ต่างวัย ต่างอุตสาหกรรม ก็อาจทำให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นและมองเห็นจุดอ่อนของตัวเองได้ในที่สุด เพราะความเห็นที่หลากหลายจะผสมผสานความคิดของแต่ละคนเข้าด้วยกันทำให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้โดยมีมิติความคิดที่กว้างขึ้น

การจะคิดได้เป็นระบบเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะฝึกฝนเพื่อสร้างความรอบคอบและสร้างกลไกการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดได้ เพราะการตัดสินใจอาจเป็นเรื่องยาก เมื่อคิดถึงผลที่ตามมาหากตัดสินใจผิดพลาดแต่กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบจะทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้อาศัยโชคชะตาหรือชาติกำเนิด แต่เป็นการเรียนรู้ที่ฝึกฝนกันได้และช่วยให้ค่อยๆ ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ นำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในท้ายที่สุด

ที่มา : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ (กรุงเทพธุรกิจ 8 .. 55)

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ลงทุนอย่างสบายใจ


ลงทุนอย่างสบายใจ

ารลงทุนในหุ้น หลายๆ คนมักจะรู้สึกเครียด และมีกังวลอยู่ตลอดเวลา เขากลัวว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือในโลกนี้ซึ่งจะทำให้หุ้นตกทั้งตลาดและทำให้หุ้นเขาตกลงไปด้วย เขากังวลว่า หุ้นตัวที่เขาถืออยู่อาจจะมีปัญหาหรือมีเหตุการณ์ไม่ดี ซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนัก และทำให้เขาขาดทุนมากมายอย่าง "ไม่คาดฝัน" การลงทุนในหุ้นดูเหมือนว่าจะมี "ต้นทุน" ที่ไม่ใช่ตัวเงินแฝงอยู่ นั่นก็คือ ความกังวลและความไม่สบายใจ และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อย เพื่อ "ลดความไม่สบายใจ" ในสถานการณ์ที่ "ไม่แน่นอน" แต่นี่มักจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเราลดลงในระยะยาว คำถาม คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้เราลงทุนอย่างสบายใจได้

สูตรการลงทุนอย่างสบายใจของผม คือ ข้อแรก จงตั้งความหวังผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นให้เหมาะสม คือ ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเฉลี่ย 10% ถ้าเราคิดว่า เรามีความสามารถสูงมาก อาจตั้งความหวังได้สูงขึ้น แต่สูงสุดไม่ควรเกิน 15% ต่อปี คำว่าระยะยาวของผม ต้องยาวไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป การตั้งความหวังที่เหมาะสม จะทำให้มีโอกาสบรรลุผลได้ไม่ยากเกินไป ซึ่งทำให้เราไม่ต้อง "เร่ง" ผลตอบแทนโดยวิธีการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไม่ต้องเล่น "หุ้นร้อน" หรือไม่ต้องใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้น ซึ่งทำให้เราลงทุนหุ้นได้แบบ "ชิวๆ"  

ข้อสอง เลือกซื้อหุ้นที่เน้นความปลอดภัยของตัวกิจการเป็นหลัก นี่คือ หุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงช้าในด้านของธุรกิจ เป็นกิจการที่ไม่ล้ำสมัยแต่ไม่ล้าสมัย เป็นกิจการที่เป็น "ผู้นำ" มีฐานะทางการเงินดี และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก คือ เป็นกิจการที่เรามีโอกาสได้พบเห็น หรือได้ใช้บริการเป็นประจำ

ข้อสาม ต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการถือหุ้นอย่างเหมาะสม นั่นก็คือ ถ้ามีเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ก็ควรต้องมีหุ้นอย่างน้อย 5 ตัวโดยที่ตัวใหญ่สุดไม่ควรจะเกิน 30% ของพอร์ต และควรถือหุ้นในหลายๆ อุตสาหกรรม แต่ถ้ามีเงินลงทุนค่อนข้างมาก เช่น 10 ล้านบาทขึ้นไป หุ้นที่ลงก็อาจจะมากขึ้นได้ แต่ต้องไม่มากจนเกินไป มิฉะนั้น เราอาจจะมีหุ้นที่เป็น "เบี้ยหัวแตก" ที่ทำให้เราขาดการเอาใจใส่ และทำให้ผลตอบแทนการลงทุนด้อยลงไปได้ โดยทั่วไปแล้ว ผมคิดว่า ถ้ามีเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่ควรถือหุ้นเกิน 10-15 ตัว

ข้อสี่ เราควรพยายามตั้งเป็นกฎคร่าวๆ ว่า ในแต่ละปีเราจะซื้อขายหุ้นไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตการลงทุน กฎง่ายๆ ของผม คือ ปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละปี ไม่ควรเกิน 2 เท่าของขนาดของพอร์ตของเรา เช่น ถ้าพอร์ตเราเท่ากับ 1 ล้านบาทในตอนต้นปี เราควรซื้อขายหุ้นในปีนั้นไม่เกิน 2 ล้านบาท นั่นแปลว่า เราจะถือหุ้นแต่ละตัวเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉลี่ย ถ้าเราซื้อขายหุ้นมากกว่า แสดงว่า เราอาจจะถือหุ้นสั้นเกินไปและอาจหมายความว่าเราเป็น "นักเก็งกำไร" แทนที่จะเป็น "นักลงทุน" และประเด็นของผม ก็คือ การเป็นนักเก็งกำไร ก่อให้เกิดความตึงเครียดสูงกว่านักลงทุนมาก

ข้อห้า อย่าสนใจการขึ้นหรือลงของหุ้นแต่ละตัวมากนัก พยายามมองภาพรวมของพอร์ตหุ้นว่าเติบโตขึ้นหรือลดลง การไปเน้นดูหุ้นแต่ละตัวก่อให้เกิดความเครียด เพราะเราจะพบหุ้นที่มีราคาตกลงไปมาก และอาจพยายามไปทำอะไรกับมัน ซึ่งอาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดี ที่สำคัญ คือ อย่าไปดูราคาหุ้นทุกตัวทุกวัน วิธีที่ผมแนะนำ คือ ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เราคำนวณดูว่าพอร์ตการลงทุนของเราเป็นเท่าไร โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอยู่มากมาย การดูเป็นพอร์ต เราจะเห็นว่า ความผันผวนน้อยลงเมื่อเทียบกับหุ้นแต่ละตัว และทำให้เราเครียดน้อยลง ถ้าเราลงทุนเลือกหุ้นได้ถูกต้องโดยเฉลี่ย เราก็ควรจะเห็นพอร์ตของเราโตขึ้นอย่างช้าๆ และมั่นคงเมื่อเวลาผ่านไป

ข้อหก การที่เราจะทำอะไรกับหุ้นแต่ละตัว ไม่ควรจะเน้นไปที่ด้านของราคาหุ้นรายวัน สิ่งที่เราควรทำ คือ ทุกไตรมาส ต้องติดตามดูผลประกอบการของบริษัทว่าเป็นอย่างไร เป็นไปอย่างที่เราคาดไว้ไหม เช่น ดีขึ้น ดีขึ้นมาก แย่ลง แย่ลงมาก เพราะอะไร  จากนั้นก็สามารถนำมาตัดสินได้ว่า เราจะทำอะไรกับหุ้น ปกติถ้าเราลงทุนหุ้นถูกตัวแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ต้องทำอะไร แต่บางกรณีที่เราคาดการณ์ผิด เราอาจจะขายทิ้งได้ เช่นเดียวกัน บางครั้งเราอาจจะซื้อเพิ่ม โดยวิธีนี้ เราไม่ต้องกังวลเป็นรายวันกับราคาของหุ้นมากนัก

ข้อเจ็ด เมื่อได้รับปันผลมา อย่านำเงินไปใช้หรือเอาออกจากพอร์ตถ้าไม่จำเป็น นำปันผลกลับไปซื้อหุ้นกลับเข้าพอร์ต เพื่อทำพอร์ตให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นหลักการลงทุนแบบทบต้น ซึ่งจะทำให้พอร์ตโตเร็วขึ้นแบบทวีคูณ เป้าหมายของเรา ควรจะตั้งไว้ว่าเราต้องการสร้างพอร์ตนี้ เพื่อเป็นเงินการเกษียณ หรือเป็นเงินมรดกลูกหลาน เงินที่เราจะนำไปใช้จ่าย ควรเป็นเงินที่เราทำมาหาได้จากน้ำพักน้ำแรงมากกว่า ถ้าคิดได้แบบนี้ ก็จะสบายใจว่า นี่เป็น "เงินเย็น" ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนานเราจะเครียดน้อยลง

ข้อแปด ทุกปี เรา ต้องคำนวณหาผลตอบแทนประจำปี ดูว่า เราทำได้เท่าไร เทียบกับผลตอบแทนของตลาดและเทียบกับเป้าระยะยาวของเรา ซึ่งคือ  10-15% ที่เราตั้งไว้ ถ้าเราทำได้ดีกว่าตลาดและดีกว่าเป้า เราควรจะดีใจ โดยไม่ต้องเทียบกับคนอื่น ถ้าเราทำได้แพ้ตลาด แต่ยังทำได้ตามเป้า ก็ควรจะดีใจ เพราะในไม่ช้าเป้าหมายระยะยาวของเราก็ไปได้ถึง แต่ถ้าเราแพ้ทั้งตลาด และก็ไม่ได้ตามเป้า เราอาจจะเสียใจบ้าง แต่ควรดูต่อไปว่า ปันผลที่ได้รับในปีนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่

ถ้ายังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน นั่นก็อาจจะเป็นเครื่องปลอบเราว่า ที่จริงการลงทุนของเรา ไม่ได้ผิดพลาด ยังก้าวหน้าไป เพียงแต่ในระยะสั้นๆ ตลาดหุ้นอาจไม่เป็นใจทำให้ราคาลดลง แต่ในอนาคต คงปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก ว่าที่จริง ในระยะยาวจริงๆ แล้ว ปันผล ถือว่าเป็นเครื่องวัดที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งว่า เราลงทุนได้ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าปันผลเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจ ก็ไม่มีอะไรต้องวิตกเลย

ทั้งหมด ก็เป็นกลวิธีการลงทุน ที่จะทำให้เรามีความสบายใจ ใช้เวลาไม่มาก ไม่เครียด และได้ผลดี โดยเฉพาะคนที่มีงานประจำเต็มเวลา การลงทุนแบบนี้เปรียบไปก็จะคล้ายๆ กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ยืนต้น ที่เราเฝ้าดูแลมันเติบโตขึ้นช้าๆ แต่มั่นคง โดยที่ไม่ต้องเร่งมัน แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เราจะได้อาศัยร่มเงา และผลของมันมากินได้ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่พึ่งของเราได้

ที่มา : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร (กรุงเทพธุรกิจ 28 .. 55)