วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

“Underdog Employee”



..ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ตกที่นั่งเป็น “Underdog Employee” ให้ใช้หลักเตือนตัวเองดังนี้
j หาจุดอ่อนให้เจอ วางใจเป็นกลาง ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ค่อยๆค้นหา ถามไถ่ ไล่เรียง จากนั้นก็ประเมินดูว่าแก้ได้หรือไม่ ด้วยวิธีใด
kพูดน้อย ต่อยหนัก พูดทั้งทีต้องแม่นยำ คมชัด เนื้อๆ ชนิดที่ว่าทำให้ผู้ฟังหรือผู้บริหารอึ้งได้ เป็นการค่อยๆ เพิ่มความไว้วางใจและคะแนนให้ตัวเอง
l ลูกขยัน เก่งไม่เท่าคนอื่นต้องอาศัยมุขขยันช่วย ต้องหมั่นทำ หมั่นเรียนรู้ สู้ด้วยแรงแซงด้วยความมานะ ที่สำคัญอย่าลืมวิ่งเข้าหาโอกาส จงขยันขันอาสาในงานที่ตัวเองพอทำได้ เพราะเป็นการเปิดโลกทัศน์ และเป็นการแสดงให้ผู้บริหารเห็นถึงความตั้งใจ เป็นการขอเวทีให้เราแสดงความสารถอีกทางหนึ่ง
„ หาพื้นที่ให้ตัวเอง พยายามหา Positioning ให้ตัวเองให้ได้ Positioning ที่ดีต้องแตกต่าง ต้องให้เจ้านายจำในสิ่งเชิงบวกที่เรามีมากกว่า เช่นเราอาจเก่ง Operation กว่า วิเคราะห์เก่งกว่า ต่อรองได้แจ๋วกว่า หรือแม่นตัวเลขกว่า


ที่มา: ชัยพล กฤตยาวาณิชย์ (กรุงเทพธุรกิจ; 25 ต.ค. 56)

อุทยานดอกไม้ ร้อยมาลี สวัสดีปีใหม่

อุทยานดอกไม้ ร้อยมาลี สวัสดีปีใหม่
มานพ อำรุง (6244)

          จากวาจาแทนมาลีในปีใหม่
ขอน้อมใจ คำนับกายให้พรนั้น
เปรียบมาลัย วาจา ค่าอนันต์
สพสุขสันต์ สรรพสิ่ง มิ่งมงคล
          “สวัสดี” คำนี้ เปรียบกุหลาบ
หอมกำซาบ ซึ้งทรวง ทุกแห่งหน
“รื่นรมย์” ใจ คือบานชื่น ชื่นกมล
“ฤกษ์ยามดี” มีทุกคน ดั่งราตรี
          “เปรมปรีดิ์” ไหน ชื่นใจเท่านางแย้ม
“ชื่นชม” แจ่ม บัวอุบล ปนหลากสี
“สุขสม” จิต คิดดมดอม หอมจำปี
“นิยม” มี นิยามใหม่ ใบนมแมว
          สารภี เปรียบสุข คำ “สุขศรี”
คำ “ปรานี” ยี่โถเห็นเป็นทิวแถว
มะลิวัลย์ คือ “โชคชัย” พ้นรั้วแนว
“สุขสันต์” แล้วรักเร่ไม่เร่ไกล
          มีสร้อยไก่ “สมฤทัย” ในสร้อยสี
“รุ่งเรือง”ดี มีลำดวน รัญจวนไหม
กระดังงา แทนสุข หอม “สุขใจ”
“สิ้นทุกข์” ไป พุทธชาด พุทธคุณ
          เกษมสุข “สุขเกษม” เปรมดวงจิต
ในนิมิตคือบุนนาค หากปลูกหนุน
หรือพวงทอง พวงชมพู คู่พิกุล
คือต้นบุญ พฤกษา มาอวยพร
          โน้มมาลีด้วยวจีที่มีพร้อม
คำนับน้อม สอยด้วยจิตประภัสสร
ผกาวจี เป็นมาลัยสรวมคอ-กร
ด้วยคำกลอนพฤกษาพิสุทธิ์ทั้งอุทยาน

หลักการควบคุมน้ำหนัก


หลักการควบคุมน้ำหนัก

            1.     อาหารในแต่ละมื้อมีความสำคัญ จึงควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ แต่ มื้อเช้าควรมีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือมื้อกลางวัน และน้อยที่สุดในมื้อเย็น

            2.    ถ้าเคยรับประทานอาหารมื้อเย็นมาก ควรจะค่อยๆ ลดปริมาณลง โดยเหลือข้าวไม่เกิน 1-1½ ทัพพี และเหลือกับข้าว 2/3 ส่วนจากที่เคยรับประทาน

            3.     ควรรับประทานอาหารให้ตรงตามมื้อ และไม่ควรรอกให้หิวจัดเพราะจะทำให้รับประทานอาหารมากกว่าปกติ ถ้าหิวมากควรทานน้ำเปล่า หรือซุป หรือผลไม้ก่อน

            4.    รับประทานผักให้มากขึ้น (ในอาหารแต่ละมื้อควรมีผักมากกว่าเนื้อสัตว์)

            5.    หลีกเลี่ยงอาหารระหว่างมื้อที่ไม่ได้กำหนด เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม หมากฝรั่ง และของขบเคี้ยวต่างๆ

            6.    พยายามเลี่ยงอาหารทอด เช่น ข้าวเกรียบ ปาท่องโก๋ ไข่เจียว หมูทอด (น้ำมัน 1 ชช. ให้พลังงาน 45 แคลอรี่ เราต้องวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกาย 10 นาทีจึงจะใช้พลังงานได้หมด)

            7.    หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ติดมัน และควรเปลี่ยนรูปแบบการปรุงอาหารเป็น การนึ่ง ต้ม ย่าง หรือ ผัดที่ใช้น้ำมันแต่น้อยแทน

            8.    หลีกเลี่ยงอาหารที่มี หรือปรุงโดยใช้น้ำตาลในการปรุงประกอบ เช่น ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง

            9.    หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลในอาหารต่างๆ เช่น ไม่เติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยวและกับข้าว

           10.   รับประทานผลไม้ที่รสชาติไม่ค่อยหวาน เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล และไม่ควรรับประทานเกิน 2-3 ผล หรือ ประมาณ 1 จานรองแก้วพูน

            11.  รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้ทานอาหารได้น้อยลง

            12.  ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งๆ ละอย่างน้อย 1-1½ ชั่วโมง

พึงระลึกไว้เสมอว่า การลดน้ำหนักควรกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ร่างกายไม่ควรจะอ่อนเพลียมาก และเราควรจะสามารถทำกิจวัติประจำวันได้ตามปกติ

ด้วยความปรารถนาดีจาก 8846

7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง


7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  [  http://th.wikipedia.org ]

 

ขอแนะนำหนังสือชื่อ “7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูงหรือ The Seven Habits of Highly Effective People มีใจความหลักของ 7 อุปนิสัย ที่ สตีเฟน อาร์. โคว์วีย์เขียน 7 ขั้นดังต่อไปนี้

 

 ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive)

          เวลาที่เราต้องการอะไร หรือต้องการจะเริ่มอะไรสักอย่าง จะต้องมีตัวกระตุ้น และตัวกระตุ้นจะทำให้เกิดการตอบสนอง ดังนั้น หากเราเป็นผู้เริ่มก่อน หรือเป็นตัวกระตุ้น การตอบสนองจะตามมา แต่การที่เราจะทำสิ่งใด ก็ควรอยู่ในขอบเขตที่ทุกคน สามารถยอมรับได้

k เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the End in Mind)

          การที่เราจะเริ่มต้น ก่อนอื่นมันมักจะมาจากสิ่งที่เราคิดในใจ หลักของ "เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ" นั้นคือการทำสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในจิตใจ และครั้งที่สอง คือการทำให้สิ่งที่เราคิดเป็นจริง แต่การที่เราจะทุ่มแค่แรงใจอย่างเดียวก็ไม่สามารถเกิดประสิทธิผลได้ มันอยู่กับว่าเราเทความพยายามไปในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และต้องมีศูนย์รวมในตนเองและเป็นการที่เราดำเนินชีวิต และตัดสินใจได้จากฐานความชัดเจนในเป้าหมายชีวิตของเรา สามารถปฏิเสธอย่างไม่รู้สึกผิดหากสิ่งนั้นไม่ตรงเป้าประสงค์หลักของเรา

lทำตามลำดับความสำคัญ (Put First Things First.)

          อุปนิสัยที่ 3 เป็นเหมือนภาคปฏิบัติของ อุปนิสัยที่ 1 และ 2 ซึ่งมีทั้ง การจัดการบริหารเวลารู้จักปฏิเสธตารางเวลา เพื่อให้เราทำสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก่อน วิธีง่ายๆ ที่จะลองทำคือ เขียนรายชื่อสิ่งที่เราอยากทำ และ เราควรทำ ทำสัญญาลักษณ์แบ่งมันออกเป็น 3 ระดับ คือ สำคัญมากเร่งด่วนสำคัญมากแต่ไม่เร่งด่วนไม่สำคัญมากแต่เร่งด่วน และทำตามลำดับ สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรามักจะถูกแทรกแซงความสนใจไปกับเรื่องที่เร่งด่วนแต่อาจไม่สำคัญต่อเป้าหมายหลัก ส่วนเรื่องที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เป็นการช่วยทำให้เพิ่มศักยภาพต่อการบรรลุเป้าหมายเช่น การออกกำลังกาย ใช้เวลาเพื่อการทบทวนเนื้อหาวิชานั้นเราละเลยไป เชื่อว่าหากเราค้นว่า "สิ่งใดที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ดีขึ้น วันนี้" เราจะทำสิ่งนั้นได้ และจะชัดเจนในการจัดการสิ่งที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญต่อเป้าหมายเราได้

 คิดแบบ ชนะ/ชนะ (Think Win-Win)

          จริงๆ แล้วมนุษย์มีกรอบความคิด 6 แบบที่กระทำต่อกัน หนึ่งในนั้นคือ การคิดแบบชนะ/ชนะ คือไม่มีผู้แพ้ เป็นข้อตกลงหรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่อย่างไรเสีย ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ ว่าควรใช้แบบอื่นหรือไม่ หากไม่สามารถหาข้อตกลงแบบ คุณก็ชนะ ฉันก็ชนะได้ ก็ตกลงว่า "จะไม่ตกลง" ขณะนี้เพื่อลดสถานการณ์ที่ มีผู้หนึ่งผู้ใดต้องแพ้ จุดตั้งต้นคือต้องเห็นคุณค่าในตนเอง และเห็นความproactiveที่มีค่าของผู้อื่น (I'm Ok, You're Ok.)บทนี้เน้นการแก้ปัญหาโดยศาลควรเป็นทางเลือกท้ายสุดเพราะมีเพียง แพ้ หรือ ชนะ เท่านั้น

nเข้าใจคนอื่นก่อนจะให้คนอื่นเข้าใจเรา (Seek First to Understand, Then to be Understood.)ก่อนบอกความต้องการหรือสิ่งที่เราคิดแล้วอยากให้ผู้อื่นยอมรับ เราต้องให้ความสำคัญและเข้าใจมุมมองของผู้อื่นต่อเรื่องนั้นๆอย่างลึกซึ้งก่อน ลดการปะทะกัน

o ประสานพลังสร้างสิ่งใหม่ (Synergize) เกิดจากการยอมรับในคุณค่าของตนเอง และเข้าใจในความแตกต่างที่ผู้อื่นมีมุมมอง ลดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์ซึ่งปิดกั้นความคิดดีๆของกลุ่มคนที่อยู่ด้วยกัน มีเพียงความพยามในการเข้าใจในสิ่งที่ตอนแรกเหมือนจะไม่เห็นด้วยเท่านั้น

pลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ (Sharpen the saw) ที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่อุปนิสัยที่ 1-6 จะนำไปใช้ในชีวิตจริงให้ได้ประสิทธิผล เราต้องมั่นฝึกฝนอุปนิสัยต่างๆเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ "มั่นลับคมเลื่อยไว้ ยามเมื่อถึงเวลา..จะได้พร้อมใช้" นั่นเอง

ส่งมาโดย....ยุพิน เสมอวงศ์  (9359)

 

คำอธิษฐานของผู้สูงอายุ


คำอธิษฐานของผู้สูงอายุ


ถ้าเราเอ่ยถึง "คนแก่ คนเฒ่า" หรือคนชรา  เรามักจะนึกถึง คนที่มีร่างกายและใบหน้าเหี่ยวย่น ผมขาว เดินเหินหรือทำอะไรงกๆ เงิ่นๆ  นัยน์ตาฝ้าฟาง เสียงก็แหบแห้ง บางครั้งก็สั่นเครือ อีกทั้งมีพฤติกรรม   จู้จี้ขี้บ่น พูดแต่เรื่องเก่าๆ ซ้ำซาก  ขี้หลงขี้ลืม   อารมณ์หงุดหงิด ฯลฯ เป็นที่น่ารำคาญของลูกหลาน จนเมื่อหลายปีมานี้ พวกเราหลายคนคงจะได้เคยอ่านกาพย์ยานีบทหนึ่ง

มีข้อความบางตอนดังนี้

                พ่อแม่ก็แก่เฒ่า       จำจากเจ้าอยู่ไม่นาน
                จะพบจะพ้องพาน       เพียงเสี้ยววารของคืนวัน
                ขอเถิดให้สงสาร        อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ
                คนแก่ชะแรวัย          คิดเผลอไผลเป็นแน่นอน
                ขอโทษถ้าทำผิด         ขอให้คิดทุกทุกยาม
                ใจแท้มีแต่ความ        หวังติดตามช่วยอวยชัย
 
            กลอนบทนี้นับว่าบรรยายความได้ตรงใจผู้เฒ่าผู้แก่อย่างมาก จึงได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ปรากฏอยู่ตามสิ่งพิมพ์  เว็บไซต์
มีการดัดแปลงเป็นบทเพลง เอาไปใช้ประกอบการอบรมสั่งสอนลูกหลาน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง เพราะไม่มีการลงนามท้ายบทกลอน
ผู้อ่านท่านใดทราบ  ช่วยกรุณาบอกด้วยว่ากลอนบทนี้มีที่มาอย่างไรใครเป็นผู้แต่ง
        ทางกายภาพนั้นไม่มีใครหลีกพ้นแต่ในทางการดำเนินชีวิตและปฎิบัติตนนั้น   เราจะทำตัวอย่างไรเมื่อวัยนั้นมาถึง   เอาแค่ไม่ต้องเป็นขี้ปากของลูกหลานก็พอแล้วไม่ต้องให้มานับถือกราบไหว้เราดอก คืออย่าให้พวกเขามองเราเป็นคนเฒ่าคนแก่อย่างที่กล่าวข้างต้นขอให้พวกเขามองเราอย่าง "ผู้สูงอายุ"คนหนึ่ง  ก็พอใจแล้วก็ได้จากคอลัมน์แอน แลนเดอร์อีกนั่นแหละครับตีพิมพ์ไว้หลายปีจนจำไม่ได้แล้ว มีผู้อ่านท่านหนึ่งส่งคำอธิษฐานของตนมาให้ตีพิมพ์อ่านแล้วน่าจะตรงใจกับคนที่ไม่อยากเป็น "คนแก่" แต่อยากมีชีวิตอย่าง "ผู้สูงอายุ" มากกว่า   แปลออกมาพอได้ความดังนี้
                                                                     คำอธิษฐาน
     พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบดีว่าข้าพระองค์กำลังก้าวล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย  ขอพระองค์จงโปรดประทาน............ อย่าให้ข้าฯ ต้องกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่นขอให้ข้าฯไม่ตกอยู่ในฐานะที่ต้องออกความเห็นไปในทุกเรื่อง ขอให้ข้าฯ พ้นจากการที่ต้องไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นโดยไม่จำเป็น
ขอให้จิตของข้าฯ ปลอดพ้นจากเรื่องจุกจิกกวนใจ ขอได้โปรดประทานปัญญานำข้าฯเข้าสู่ประเด็นปัญหา(ชีวิต) โดยไม่อ้อมค้อม ขอได้โปรดประทานความเข้มแข็งให้แก่ข้าฯเมื่อต้องรับฟังความทุกข์แห่งกายสังขารจากผู้อื่น ขอได้โปรดประทานความอดทนให้แก่ข้าฯในขณะที่ความเมื่อยล้า และความเจ็บปวด ได้ทวีขึ้นทั้งชนิดของโรคภัยและความรุนแรง  ด้วยอาการอันสงบ
            เมื่อข้าฯทำผิดพลาด  ขอพระองค์ให้บทเรียนด้วยการให้เหตุผลที่สมควรแก่ข้าฯ ข้าฯมิได้หวังจะมีชีวิตอย่างนักบุญ(เพราะมันยากเข็ญเกินกว่าข้าฯจะรับได้)  แต่การเป็นคนแก่ที่หลงเลอะเทอะนั้น  ก็ช่างน่าเกลียดเหลือกำลัง  ขอได้โปรดให้ข้าฯได้เป็นตัวของตัวเอง
แต่ก็สามารถยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นได้โดยไม่ต้องรู้สึกเสียหน้า ขอให้ข้าฯพ้นจากคำเสียดสีที่ว่าอยู่มานาน จึงรู้ดีกว่าใครๆ  หากว่าไม่มีอะไรดีขึ้นจากคำอธิษฐานนี้   ขอพระองค์โปรดประทานสติ  ให้ข้าฯได้สงบปากคำไว้ให้มั่นคง เมื่อเวลาของข้าฯใกล้จะสิ้นสุดลงข้าฯหวังว่าจะมีเพื่อนสักหนึ่งหรือสองคนอยู่ด้วยกับข้าพระองค์
            คำอธิษฐาน  คือการกำหนดสภาวะที่พึงปรารถนาให้กับตนเองโดยมีศรัทธาเป็นแรงเสริม     เพื่อไว้เตือนตนเอง  ให้อดทน อดกลั้นต่อสภาวะต่างๆที่จะต้องประสบ  บอกตนเองให้ใช้ปัญญาเพื่อ กำจัดความหลงผิดแล้วใช้สติ  ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงและสงบ อยู่เสมอ คำอธิษฐานเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับหลักธรรมของพวกเรา  ชาวพุทธ ที่ว่าด้วย ขันติ โสรัจจะ คือธรรมที่ทำให้งาม   การใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาและการมีสติ รู้สภาวะของกาย ใจในทุกขณะของชีวิต ธรรมเหล่านี้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติ สรุปแล้วทุกคนต้องพึ่งตนเอง จะหวังพึ่งลูกหลานก็ตอนอยู่เป็นเพื่อนเมื่อถึงเวลานั้น"ก็พอแล้ว
           ผู้ใดปฎิบัติได้   ผู้นั้น ก็พ้นจากความ "แก่ เฒ่า" ขอให้ท่านผู้สูงอายุทั้งหลายจงเจริญในธรรมดังกล่าวยิ่งยิ่งขึ้นไปเทอญ
ส่งมาโดย....กฤตนัยน์  สามะพุทธิ (6809 )