วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เก็บมาเล่า: แนวคิดการบริหารเงิน

          ผมเชื่อว่า สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีสมาชิกสามัญจำนวน 8,230 คน และสมาชิกสมทบ จำนวน 2,071 คน ส่วนใหญ่ฝากเงินไว้กับ สอ.มก. เพราะเงินฝาก เมื่อสิ้นปี 2554 มีจำนวนรวมถึง 11,179 ล้านบาท มีทุนเรือนหุ้น รวม 4,387 ล้านบาท และมีสมาชิกกู้ จำนวน 3,504 ล้านบาท ผมเป็นสมาชิก สอ.มก. มาตั้งแต่เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ สอ.มก. เสมือนเป็นสถาบันการเงินของครอบครัว จนเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังกลับมาใช้บริการของ สอ.มก. อยู่ แต่ผมจะกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพราะเงินที่เก็บออมมา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องบริหารจัดการเงินออมนั้น ให้เกิดดอกผลตามสมควร และจัดเก็บไว้ในที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ และหากสามารถบริหารเงินออมให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือเอาชนะเงินเฟ้อได้ก็จะดีที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นเงินที่เราเก็บออมไว้จะมีมูลค่าน้อยลง น้อยลง .. อย่างเช่น ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเราอยู่ที่ ร้อยละ 4 หากเราเอาเงินออมทั้งหมดฝากไว้กับ สอ.มก. ซึ่งให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษจะอยู่ที่ร้อยละ 2.75 - 3.75 มูลค่าเงินในอนาคตของเราจะลดลง..ลดลง นอกจากที่พวกเราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการซื้อประกันชีวิต การลงทุนในกองทุน RMF และ LTF ที่สามารถนำเงินลงทุนแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารต่างๆ ออกมา เสนอผลตอบแทนที่น่าสนใจให้เลือก เช่น ที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส) เคยเปิดรับฝากเงิน จากผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เรียกชื่อว่า เงินออมเกษียณสุขใจ ระยะเวลา 3 ปี ให้ดอกเบี้ยเป็นขั้นบันไดร้อยละ 3.5 - 6 โดยไม่เสียภาษี สมาชิก สอ.มก. ที่เกษียณอายุราชการ ส่วนหนึ่งเมื่อได้เงินก้อนจาก กบข. หรือได้รับเงินบำเหน็จตกทอด อาจจะหนักใจว่าจะเอาเงินที่ได้รับไปบริหารจัดการอย่างไรดี เงินก้อนนี้จึงจะอยู่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้เราได้กิน ได้ใช้ไปตลอดระยะเวลาในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุโดยไม่ต้องไปพึ่งพาลูกหลานโดยทั่วไป นักวางแผนทางการเงิน แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน แบ่งเงินเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1) เงินที่กันไว้เป็นสภาพคล่องให้เพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ 2) เงินส่วนที่เหลือซึ่งจะใช้เพื่อการลงทุน การลงทุนก็มีความหลายหลายแล้วแต่ความถนัดหรือความชอบของแต่ละบุคคล และขึ้นอยู่กับว่าเรามีเงินมากน้อยแค่ไหนบางคนมีเงินเหลือมากก็อาจจะบอกว่าลงทุนที่ดินดีที่สุดในระยะยาว ถ้าเป็นเงินเย็นอาจจะซื้อที่ดินแต่ต้องเป็นที่ดินที่ทำเลดีจริงๆ เพราะคนรุ่นผมที่เคยซื้อที่ดินจัดสรรแบบสวนเกษตร เมื่อ 30 ปีก่อน จนบัดนี้ราคาที่ดินก็ไม่ได้เพิ่มมูลค่าเท่าไรกลายเป็นที่ดินว่างเปล่าที่รกร้าง ไม่ได้เป็นสวนเกษตรอย่างที่คิด
เมื่อก่อนมีเงินเหลือเก็บ คนก็มักจะซื้อทองรูปพรรณ เพราะถ้าจะซื้อทองแท่งก็ต้องใช้เงินมาก และต้องไปซื้อที่ร้านทองแถวเยาวราชจึงจะดี และมีภาระหาที่เก็บทอง แต่สมัยนี้ มีกองทุนทองคำ ซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ได้หลายแห่ง เริ่มต้นขั้นต่ำครั้งละ 1,000 บาทเท่านั้น มีทั้งกองทุน Gold RMF ที่ลดหย่อนภาษีได้ หรือกองทุนทองธรรมดา ที่สามารถซื้อขายผ่านธนาคารเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องเอาทองมาเก็บไว้ที่บ้าน แต่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ หากสมาชิกท่านใดทราบกรุณาเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างบางคนอาจเข้าไปลงทุนในตลาดเงิน ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ระยะสั้น หรือไปเปิดพอร์ต เพื่อซื้อหุ้นในตลาดทุน ที่มีความเสี่ยงสูงการลงทุนในตลาดทุน (หุ้น) โดยการซื้อหุ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ นั้น ระบบสหกรณ์มูลค่าหุ้นมิได้เพิ่มขึ้น แต่ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลทุกปี เช่น มีหุ้นในสหกรณ์อยู่ 3 แสนบาท ผ่านไป 20 ปี มูลค่าหุ้นก็ยังคงเป็น 3 แสนบาทในขณะที่ในตลาดทุน(หุ้น) ผมรู้จักกับผู้ลงทุนรายหนึ่ง ก่อตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นก่อนเข้า 30 บาทต่อหุ้น ผ่านไป 20 ปี ราคาหุ้นขึ้นไปเป็น หุ้นละ 600 บาท หากผู้ลงทุนมีอยู่ 10,000 หุ้น ลงทุนไป 3 แสนบาท ผ่านไป 20 ปี ผู้ลงทุนมีหุ้นที่อยู่ในบริษัทนี้มูลค่า 6 ล้านบาท ยังไม่รวมกับเงินปันผลที่จ่ายให้ทุกปีตามผลประกอบการอีกด้วย

          ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา Warren Buffett ผู้ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้ร่ำรวยเป็นอันดับที่สองของโลก มีทรัพย์สินอยู่ 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อหุ้น Berkshire Hathaway เมื่อ 47 ปีก่อน มูลค่าหุ้นเพียงหุ้นละ 19 เหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันหุ้นหนึ่งมีมูลค่าถึง 116,914 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการที่จะเป็นแบบนี้ได้ ก็ต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานและอนาคตที่ดี เพราะคนที่ลงทุนในหุ้นจำนวนไม่น้อยประสบความผิดหวังขาดทุนเจ็บตัวก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยการลงทุนในหุ้นนั้นมีผลตอบแทนจากเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น (ลดลงก็ได้) ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีทุนน้อย เวลาจำกัด และไม่ค่อยมีความรู้ความชำนาญในเรื่องตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารต่างๆ ก็มีกองทุนเกี่ยวกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่สมาชิก สอ.มก. สามารถไปซื้อสะสมได้ครั้งละไม่มากนัก และให้ผู้บริหารกองทุนมืออาชีพเป็นคนจัดการแทนเรา
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงแนวทางที่ท่านสามารถบริหารเงินให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษา ค้นคว้า ทำการบ้าน ที่สำคัญที่สุดคือต้องกระจายความเสี่ยง อย่าเอาทุนที่มีอยู่ไปลงทุนที่ใดที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว และต้องไม่โลภมาก ค่อยๆ สะสมไป เพื่ออนาคตที่มั่นคง

ศ. ดร. เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ (6716)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น