วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปี่พระอภัยมณี ...(เป่าเมื่อไร...มีผลอย่างไร)


ปี่พระอภัยมณี ...(เป่าเมื่อไร...มีผลอย่างไร)

          ถึงแม้ว่าข้าศึกมันโจมจับ                                                    จะรบรับสารพัดให้ขัดสน

เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน                                                                 ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ

คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส                                                          เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร

ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ                                                        จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง

            พระอาจารย์ของพระอภัยมณีกล่าวถึงอานุภาพของการเป่าปี่ที่สอนให้นั้นว่าไม่ใช่ปกติธรรมดา แต่พระราชบิดาคือท้าวสุทัศน์ไม่รู้เรื่องก็เลยไล่ออกจากเมืองไปพร้อมกับน้องชายคือ ศรีสุวรรณ ซึ่งเรียนวิชากระบี่กระบองมาท่านก็ว่าเป็นวิชาของทหารเลวทั่วๆ ไป

            เดินทางมาเจอพี่พราหมณ์สามสหาย โมรา มีฝีมือทางผูกฟางเป็นสำเภาแล่นไปในน้ำและบนบกได้ สานน มีวิชาเรียกลมและฝนได้ วิเชียร เป็นมือขมังธนูยิงได้คราวละ 7 ลูก แต่ละลูกจะไม่ผิดเป้าเลย วิชากระบี่กระบองก็ยังพอเดาได้ว่าเป็นยังไง แต่เป่าปี่นี่สิเป็นยังไงกันนะ

            ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย                                            ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย

ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย                                                                   จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

พระจันทร์จรสว่างกลางโพยม                                                            ไม่เทียบโฉมนางงามเจ้าพราห์มเอ๋ย

แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย                                                   ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน

เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง                                                       สำเนียงเพียงการเวกกังวานหวาน

หวาดประหวัดสตรีฤดีกาล                                                                ให้ซาบซ่านเสียงสดับจนหลับไป

ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่                                                                 ฟังเสียงปี่วาบวับก็หลับใหล

พระแกล้งเป่าแปลงเพลงวังเวงใจ                                                       เป็นความบวงสรวงพระไทรที่เนินทราย

            เป่าครั้งแรกในเรื่องก็หลับใหลกันหมด ตัวพระอภัยเองก็เลยโดนนางสาวยักษ์ผีเสื้อสมุทรอุ้มเอาไปกกเป็นสามีในถ้ำเสียเลย พระอภัยมณีเลยจำต้องตกกระไดพลอยโจนเสียโสดกับนางสาวยักษ์เป็นครั้งแรกเสียเลย เพราะทนตื้อไม่ไหวจริงๆ ต้องเห็นใจพระอภัยมณี และไม่มีให้เลือกด้วยนะ

            จะยังยืนขืนขัดตัดสวาท                                                     ไม่สังวาสเชยชิดพิสมัย

ก็สะบักสะบอมตรอมฤทัย                                                                ต้องแข็งใจกินเกลือด้วยเหลือทน

 

            ตามด้วยบท พลอดรัก โดยสร้างมโนภาพเปรียบเทียบกับธรรมชาติดังที่บางคนเขาเรียกว่า บทอัศจรรย์ ท่านสุนทรภู่แต่งไว้ยอดเยี่ยมจริงๆ

            เกิดกุลา (จุฬา) คว้าว่าวปักเป้าติด                                         กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง

กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง                                                               ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด

กุลาโคลงไม่รู้คล่องกะพร่องกะแพร่ง                                                   ปักเป้าแทงแต่ละทีไม่มีผิด

จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด                                                            ประกบติดตกผางลงกลางดิน

            เห็นรึยังอานุภาพของปี่พระอภัยมณี ไม่นานก็ได้บุตรสุดที่รักเป็นชายชื่อสินสมุทรแสดงว่าอาจารย์ท่านสอนมาดีมากเลย พอเริ่มใช้ครั้งแรกแค่ลองๆ ก็หลับกันไปหมดเลย หลายคนสงสัยว่าทำไมนางยักษ์มีอะไรดีถึงไม่หลับแม้จะโดนปี่พระอภัย เก็บไว้ไปถามท่านสุนทรภู่และมาบอกฉบับหน้านะครับ

วรรณศิลป์พรรณนา โดย ว.ณ.สหกรณ์

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ก้าวต่อไปเพื่อระบบราชการไทย


ก้าวต่อไปเพื่อระบบราชการไทย

            สำนักงาน ก.พ. โดยศูนย์สรรหาและเลือกสรร (ศสล.) จัดกิจกรรมการประเมินความเหมาะสมเพื่อรับทุนรัฐบาล (ระดับปริญญา) ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “Talent for Tomorrow ก้าวต่อไปเพื่อระบบราชการไทย” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ราชภัฎสวนดุสิต ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์ของการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลและสิ่งต่างๆ ที่ได้รับจากการเข้ามารับราชการ

            งานเริ่มต้นโดย นายวิสูตร ประสิทธิศิริวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จากนั้นเป็นการบรรยายถ่ายอดประสบการณ์ของนักเรียนทุนรัฐบาล โดย นายนฤตม์ เทอดสถียรศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมและนายศิรพันธ์ ยงวัฒนานันท์ นักวิชการส่งเสริมการลงทุนปฏิบัติการ สรุปสาระสำคัญของการบรรยายได้ดังนี้

            การได้มาเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล จะได้รับโอกาสจากการทำงานราชการ ได้แก่ 1. โอกาสทำประโยชน์ในวงกว้าง คือ การสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและต่อประชาชนส่วนรวม  2.โอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ การได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การได้เรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ การได้ร่วมงานกับองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ และโอกาสในการศึกษาต่อและฝึกอบรม  3. โอกาสสัมผัสโลกกว้าง ได้เดินทางเพื่อเรียนรู้และทำงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะได้เห็นสังคมที่มีความหลากหลาย อีกทั้งมีเครือข่ายที่กว้างขวาง  4. โอกาสทำงานที่หลากหลายและท้าทายความสามารถ ทั้งงานที่เป็นภารกิจหลักขององค์กร ภารกิจพิเศษ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาตนเอง  5.โอกาสสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและครอบครัว คือ การทำงานเพื่อส่วนรวมและได้ถวายงานแต่สถาบันพระมหากษัตริย์

            ส่วนข้อคิดในการทำงานราชการ/การเป็นข้าราชการที่ดี ได้แก่ (1) การทำงานเต็มศักยภาพและไม่ปฏิเสธงาน ไม่สร้างกำแพงในการทำงาน ไม่เกี่ยงงาน โดยเปิดรับโอกาสในการทำงานทุกอย่างเข้ามา (2) หมั่นกระตุ้นตนเอง (Self-Motivation) หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ใน Comfort Zone ฝึกฝนพัฒนาตนเอง และปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่เสมอ  (3) มองโลกในแง่บวก คิดว่าทุกอย่างทำได้ (Positive & Can-do Attitude)  (4) รู้จักบริหารความคาดหวัง รู้จักจังหวะเวลา ตั้งเป้าหมายจากสิ่งที่ควบคุมได้ คือ การตั้งใจทำงานในปัจจุบันให้ดีโดยไม่คาดหวังหรือยึดติดกับตำแหน่ง (5) ใช้ “ศาสตร์+ศิลป์” ในการทำงาน รู้จักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน

            การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการย้ำเตือนให้ผู้ที่กำลังจะเข้ามาเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ได้ทราบและตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะผู้รับทุนรัฐบาลที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ซึ่งจะต้องมีภาระผูกพันในการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้ดี เพื่อนำวิชาที่ตนไปร่ำเรียนกลับมาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

ที่มา : หมายเหตุ ก.พ.  , นายพิษณุโลก

สาละพระพุทธเจ้า (Shorea robusta)


สาละพระพุทธเจ้า (Shorea robusta)

ธวัชชัย  สันติสุข

ราชบัณฑิต สาขาพฤกษศาสตร์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสาละกับรัง

            สาละพระพุทธเจ้า (S.robusta) ในภูมิภาคเอเชียใต้ (อินเดียและเนปาล) มีลักษณะรูปพรรณโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับรัง (S. siamensis) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของลำต้นที่มีทั้งลำต้นสูงเปลาตรง หรือลำต้นที่คดงอ แคระแก็น เปลือกหนา สีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นร่องลึก ใบรูปไข่กว้าง โคนใบหยักเว้ารูปหัวใจ ผลมีปีกยาว 3 ปีก สั้น 2 ปีก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่ชอบแสงสว่าง โตช้า ทนไฟป่า และชอบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าผลัดใบที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกัน สาละและรังจึงเป็นพรรณไม้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากที่สุด กลุ่มหนึ่งในสกุล Shorea

            การนำต้นสาละเข้ามาปลูกในประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับเป็นพรรณไม้โตช้า และระบบรากต้องอาศัยเชื้อไมคอร์ไรซ่าในดิน เท่าที่มีการบันทึกการปลูกต้นสาละในประเทศไทยก็มี หลวงบุเรศ บำรุงการ นำมาถวายสมเด็จพระมหาวีรวงษ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถ 2 ต้น กับได้น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2510 อีก 2 ต้น ในจำนวนนี้ทรงปลูกไว้ในบริเวณพระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา 1 ต้น และพระราชทานให้วิทยาลัยเผยแพร่พระพุทธศาสนาบางละมุง จังหวัดชลบุรีอีก 1 ต้น อาจารย์เคี้ยน เอียดแก้ว และอาจารย์เฉลิม มหิทธิกุล ก็ได้นำต้นสาละมาปลูกไว้ในบริเวณคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และบริเวณค่ายฝึกนิสิตวนศาสตร์ สวนสักแม่หวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง พระพุทธทาสภิกขุ ก็ได้ปลูกไว้ที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  นายสวัสดิ์ นิชรัตน์ ผู้อำนวยการกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้นำมาปลูกไว้ในสวนพฤกษศาสตร์พุแค จังหวัดสระบุรี และมีผู้นำมาปลูกในบริเวณวัดบวรนิเวศอีกหลายครั้ง สาละที่นำมาปลูกดังกล่าว บางต้นยังคงอยู่ แต่มีการเจริญเติบโตช้ามาก

สาละกับพุทธประวัติ

          สาละเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน โดยที่พระนางสิริมหามายา พระราชมารดาของพระพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะถึงกำหนด พระสูติกาล ก็เสด็จจากรุงกบิลพัสดุ์ไปยังกรุงเทวทหะอันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง (ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ฝ่ายหญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านบิดามารดา) เมื่อขบวนผ่านมาถึงอุทยานลุมพินีอันตั้งอยู่ระหว่างนครทั้งสอง (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ใกล้ชายแดนภาคเหนือของประเทศอินเดีย พระนางทรงปวดพระครรภ์ บรรดาข้าราชบริพารก็รีบจัดที่ประสูติถวายใต้ต้นสาละใหญ่ เวลานั้นแดดอ่อน ดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศีรษะ เป็นวันเพ็ญ เดือน 6 (วันวิสาขปุรณมี) พระจันทร์จักโคจรเต็มดวงในยามเที่ยงคืน ชมพูทวีปเริ่มมีฝนอากาศโปร่ง ต้นไม้ในอุทยาน (ป่าสาละ) กำลังผลิดอกออกใบอ่อน ดอกสาละ ดอกจำปาป่า ดอกอโศก และดอกไม้นานาพรรณ กำลังเบ่งบานส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ พระนางสิริมหามายาประทับยืน พรหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งไม้รัง พระหัตถ์ซ้ายปล่อยตกประสูติพระโอรส (สิทธัตถกุมาร) ได้โดยสะดวก

            เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ได้ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน 6 ใต้ต้นมหาโพธิ์ (Ficus religiosa) ภายในป่าสาละใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธคยา แขวงเมืองอุรเวลาเสนานิคม ของรัฐพิหาร เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมแล้ว จึงเสด็จมาแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 (วันอาสาฬหปุรณมี) บริเวณป่าสาละอันร่มรื่น อุทยานมฤคทายวัน หรือ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตสารนาถ ทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี

            ในช่วงสุดท้ายที่ต้นสาละเกี่ยวข้องกับพุทธประวัตินั้น เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ได้เสด็จถึงสาลวโณทยานของมัลละกษัตริย์ (ตอนเหนือของตำบลกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ) เป็นเวลาใกล้ค่ำของวันเพ็ญ เดือน 6 (วันวิสาขปุรณมี) รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น ทรงเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยา คือเป็นการนอนครั้งสุดท้ายจนกระทั่งสังขารดับ

สรุป

            เดิมทีความเข้าใจเกี่ยวกับต้นสาละของชาวพุทธในประเทศไทย ยังค่อนข้างสับสน โดยเข้าใจว่าต้นสาละ (Shorea robusta) เป็นชนิดเดียวกับต้นรัง (S. siamensis) เพราะรูปร่าง, ขนาดของใบ และผลคล้ายคลึงกันมาก ประกอบกับต่างก็ชอบขึ้นเป็นกลุ่มด้วยเช่นกัน จากการสำรวจ ค้นคว้าพรรณไม้ทั้งสองชนิด ทำให้สามารถจำแนกชนิดสาละออกจากรังได้อย่างชัดเจน โดยอาศัยลักษณะภายอกที่เด่นชัด เช่น จำนวนเกสรเพศผู้ จำนวนเส้นแขนงใบและเส้นปีกของผล ความแตกต่างของสีใบในช่วงผลัดใบ ประเภทของป่าสาละและป่าเต็งรังที่มีองค์ประกอบพรรณไม้เด่นที่แตกต่างกัน ตลอดจนเขตการกระจายพันธุ์ของสาละในเขตภูมิภาคเอเซียใต้ ที่แยกชัดเจน จากเขตการกระจายพันธุ์ของรังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นสาละ (S.robusta) จึงเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติโดยแท้จริง

            สาละลังกาหรือลูกปืนใหญ่ (Couroupita surinamensis Mart. Ex Berg วงศ์ Lecythidaceae) เป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่บรรดาพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย สับสนเข้าใจว่าเป็นต้นสาละในพุทธประวัติ สาละลังกาเป็นพรรณไม้พื้นเมืองไม่ผลัดใบของประเทศเขตร้อน ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อชาวโปรตุเกสยึดครองประเทศศรีลังกาอยู่นั้นได้ทำลายวัดวาอารามพุทธศาสนา และนำต้นลูกปืนใหญ่ (cannon ball tree) จากอเมริกาใต้มาปลูกในสถานที่ต่างๆ ของศรีลังกาทั่วไป รวมทั้งบริเวณวัดพุทธที่ถูกทำลาย ชาวศรีลังกาเรียกต้นไม้นี้เป็นภาษาท้องถิ่นว่าสาละ (sal)” เช่นกัน เมื่อพระสงฆ์ไทยบางรูปไปจาริกแสวงบุญ ประเทศศรีลังกานำพรรณไม้ชนิดนี้มาปลูกในประเทศไทยจึงเรียกกันว่าสาละลังกา แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด

                                                สาละ robusta            Shorea

                                     ต้นรังในอินเดีย                       พุทธเจ้า

                                    ชาวพุทธอย่าลืมเสีย                   ยกย่อง

                                    กราบต้นปืนใหญ่เศร้า                 เน่าแท้พุทธไทย

คุณค่าของคน


คุณค่าของคน

โดย ชัชวาล พันธุ์มณี

     คนเราเกิดมา มีสิทธิเท่าเทียมกันของความเป็นคน แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ความเป็นคนแตกต่างกันหลังจากคนๆ นั้น สามารถพูด คิด กระทำ ประพฤติ ปฏิบัติ อยู่ในวงสังคม เพราะคนต้องอยู่ร่วมกันในสังคม พฤติกรรมจึงเป็นตัวจำแนกคุณค่าของคนให้แตกต่างกัน มีการยอมรับนับถือศักดิ์ศรีของคน สามัคคีธรรมในหมู่คณะจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสังคมไม่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ วินัยและดูถูกดูแคลนซึ่งกันและกัน บางท่านจึงจำแนกคุณค่าของคนไว้ดังนี้

1.คนกับงาน

                1.1ความสามารถในการทำงาน การงาน อาชีพ ก็เป็นตัวจำแนกคนให้แตกต่างกัน เพราะงานเป็นตัววัดความสามารถ ความชำนาญ ทักษะ และปฏิภาณไหวพริบแต่ละคนมีความสามารถมีทักษะไม่เท่าเทียมกัน จึงมีการสัมมนา ฝึกอบรม เพื่อให้ทุกคนที่ทำงานร่วมกันมีความสามารถใกล้เคียงกัน ทำงานร่วมกันได้

                1.2ความสามารถในการเข้ากับคน หรือที่เรียกว่าเข้าไหนเข้าได้ ทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆ ได้ ฉะนั้นความสามารถในการเข้ากับคนได้ จึงมิใช่ปัญหาความสามารถในการทำงาน จากการศึกษาของหลายสถาบันพบว่า คนที่ถูกปลดออกจากงาน และการเลื่อนตำแหน่งมีสาเหตุมาจาก

                                ก.คนที่ถูกปลดออกจากงาน

                                                1.ขาดความสามารถเพียง ร้อยละ 10

                                                2.เพราะเข้ากับคน เพื่อนร่วมงานมิได้ร้อยละ 90

                                ข.คนที่มิได้เลื่อนตำแหน่ง

                                                1.เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ร้อยละ 25

                                                2.เพราะเข้ากับคนมิได้ร้อยละ 75

                                จึงเห็นได้ว่า คนจะสมหวังในชีวิตการทำงานอยู่ที่มีความสามารถในการเข้ากับคนได้ และทำตนให้ถูกใจผู้อื่นได้เป็นประการแรกที่สำคัญ แล้วใช้ความรู้ความสามารถเป็นแรงเสริม ผลักดัน พึงระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดจำไว้เป็นข้อคิดให้ดี

                                ความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานจะช่วยก่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม เป็นหมู่ มีการประสานงาน (มิใช่ประสานงา) มีความสามัคคี มีความสงบสุข บรรยากาศในการทำงานดี สนุก งานก็ดีขึ้น มีผลงาน งานสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ และรวดเร็ว

2.             การปรับปรุง พัฒนาและพิจารณาตนเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

                2.1          ความประพฤติ อย่าให้เสียเรื่องเงิน เพศ ปาก สุราและการพนัน

                2.2          นิสัย อย่าเอาแต่ใจตนเอง เหยียบคนอื่น เจ้ายศเจ้าอย่าง ปากเสีย ขัดผลประโยชน์คนอื่น เห็นแก่ตัว

                2.3          ลักษณะท่าทาง ไม่หัวดื้อหัวรั้น เฉื่อยชา ขี้ขลาด อารมณ์อ่อนไหว

                2.4          อารมณ์ มุ่งจะเอาแต่ผิดกับถูก ไม่คำนึงถึงวามรู้สึก เสแสร้ง การตัดสินใจดี มิใช่เกิดจากเวลา                    มีอารมณ์ แต่เกิดจากเวลาที่เรารู้จักอารมณ์และ   รู้จักแสดงออกที่เหมาะสม

                2.5          ข้อเสนอแนะนำในการใช้อารมณ์ ใช้สติ ปัญญา                เข้ามาควบคุมอารมณ์ อย่าเป็นทาสของอารมณ์ ฝึก                        อารมณ์ให้เป็นคนหนักแน่น นุ่มนวล แนบเนียน นอบน้อมและแน่นอน

                เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ มากระทบอารมณ์ ปฏิกิริยาที่ตอบสนองควรเป็นไปในทางดี จงนึกถึงคำกล่าวที่ว่า เมื่อเรายิ้ม โลกทั้งโลกก็จะยิ้มกับเราทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนดีมีอารมณ์ดี ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โมโหฉุนเฉียว จึงควรฝึกด้วยความอดกลั้น ข่มใจ ถือหลักอโหสิ ให้อภัย จงฝึกอารมณ์ให้สงบนิ่งเหมือนชายหาด น้ำทะเล พายุ พัดกระหน่ำเข้าหาตลอดเวลาหาดก็เฉย แต่พอหมดคลื่นลม หาดก็สวยงาม ผู้พบเห็นก็มีแต่ความสดชื่น ขอให้เก็บน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก เพื่อควบคุมอารมณ์

                2.6          การพูด ฝึกตนเองให้เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์

                                อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก

                                แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย

                                อันเจ็บอื่นหมื่นแสนยังแคลนคลาย

                                เจ็บจนตายก็เพราะเหน็บให้เจ็บใจ

                คำพูดอาจเป็นอาหารจิตใจ ถ้าคนพึงพอใจก็สุข อย่าให้คนฟังทุกข์เพราะคำพูดเลย ฉะนั้นปัญหาหรืออุปสรรคในการสร้างมนุษยสัมพันธ์อยู่ที่คำพูด จึงควรฝึกพูด พูดแต่ดี อย่าดีแต่พูดไม่มีใครพูดดีมาแต่กำเนิด การพูดฝึกกันได้ แต่นักพูดที่ดี ต้องอ่านมาก เขียนมาก ศึกษามาก รู้มาก จึงจะพูดได้ดี แต่ผู้ที่อ่านมาก มีความรู้มาก พูดได้ดี พูดไม่เป็น พูดแล้วคนฟังเบื่อก็มีเยอะ ฉะนั้นการพูดดีมีศิลปะในการพูด ให้คนฟังจับใจ ถูกใจ ศึกษาฝึกฝนกันได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำได้ คำพูดที่ควรพูดให้ติดปากเสมอคือ ขอบคุณ  ขอโทษ  ขอแสดงความยินดี  ขอแสดงความนับถือ  ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ  อย่าลืม  คิด  ใคร่ครวญ  ทบทวน  แล้วพูด  อย่าพูดแล้วคิดและคนที่ดีก็คือคนที่รู้จักแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตนเองอยู่เสมอ

                2.7          คำถาม  การถามเป็นคำพูดในการสนทนา ประชุม ทำให้ผู้ฟังสนใจเบื่อหน่าย และส่อเจตนา เข้าใจถึงปัญหา ความรู้ของผู้ถามได้อย่างดียิ่งขึ้น ดังภาษิตที่ว่า  สำเนียงส่อภาษา กิริยาบอกตระกูลถ้าถามไม่เข้าท่า คนถามก็คิดเอง ฉะนั้นคิดก่อนถาม กริยาท่าทาง น้ำเสียงของคำถาม ก็มีส่วนช่วยบุคลิกของผู้ถามทั้งนั้น พอจะแบ่งประเภทคำถามออกได้ดังนี้

                                2.7.1       ถามเพื่อทราบข้อเท็จจริง หาลู่ทางที่จะ               นำไปสู่ปัญหา

                                2.7.2       ถามเพื่อให้อธิบาย หาสาเหตุ หาเหตุผล จะได้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น

                                2.7.3       ถามเพื่อยั่วยุให้แสดงความเห็น เพื่อหา              ความคิดใหม่ จะได้พิสูจน์ด้วยเหตุผลของ                                                          ใครดีกว่ากัน

                                2.7.4       ถามเพื่อเปลี่ยนการสนทนา เพื่อหาบรรยากาศที่สนุกสนานหากที่ประชุม                                                                     กำลังเครียด

                                2.7.5       ถามให้เลือกเพื่อเสนอแนะทางออก

                                2.7.6       ถามเพื่อขอความร่วมมือ ตกลงและนำไปสู่การปฏิบัติ

                                2.7.7       ประเภทคำถาม กรุณาถามให้ผู้ตอบใช้              ความคิด อาทิตย์                  

                                                                1.             คุณคิดอย่างไรกับสถานการณ์อย่างนี้

                                                                2.             คุณพอจะมีทางแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

                                                                3.             คุณกำลังคิดอะไร กำลังจะบอกใช่ไหม

                                                                4.             คุณจะเสนออะไรในกรณีนี้

                                                                5.             จากประสบการณ์ของคุณ ปัญหา                                                                                      เช่นนี้จะช่วยผมได้ไหม เหล่านี้เป็นต้น และไม่ควรถามให้ผู้ตอบรู้สึกอึดอัดใจไม่มีทางเลือก

                                                2.7.8       ลักษณะของคำถามที่ดี ตอบได้ง่าย ตรงไปตรงมา สั้น ชัดเจน ให้ข้อคิด                                                                         ให้วางแผน และให้ความเชื่อมั่น เป็นต้น

                                2.8          การฟัง การฟังมีความสำคัญมาก จงตั้งใจฟังด้วยความสนใจ ตั้งใจ จริงใจ เข้าใจ เพื่อช่วยให้บรรยากาศการประชุมสัมมนา มีบรรยากาศที่ดี ผู้ที่รู้มาก มักฟังมากกว่าพูด แต่ผู้ที่รู้น้อย มักพูดมากกว่าฟังหรือผู้รู้มากเหมือนรวงข้าวที่มีเมล็ดเต็มโน้มต่ำติดดิน แต่รวงข้าวที่มีเมล็ดลีบก็ชูเด่นเหมือนเด็กๆ ที่เพิ่งสอนพูดใหม่ๆ พูดได้ทั้งวัน อย่าลืมสุภาษิตที่ว่า             พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทองยังใช้ได้เสมอ และมีข้อที่ไม่ควรปฏิบัติระหว่างการฟัง คือ

                                                2.8.1       คอยหาโอกาสโต้แย้ง ขัดจังหวะ รีบสรุปและวิจารณ์ ขอให้คิดถึงสุภาษิต                                                                      ที่ว่า อย่าเป็นคนหูเบา อย่าเป็นคนฟังมิได้ศัพท์จับมากระเดียด จงฟังหูไว้หู สิ่งเหล่านี้ยังใช้ได้

                                2.9          ดวงตา มีสุภาษิตในหนังสือพระร่วงบทหนึ่งกล่าวว่า อย่าขุดคนด้วยปาก อย่าถากคนด้วยตา อย่าพาผิดด้วยหูยังใช้ได้เสมอ มนุษย์แสดงออกได้ทั้ง การพูด  การเขียน  ท่าทาง และดวงตา จะรักจะชังกัน ดวงตามันฟ้อง เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ จริงไหม เวลาพูดขอให้ปากกับใจตรงกัน หลอกกันมิได้หรอก สุนัขก็ยังรู้เลยว่าปากกับใจตรงกันไหม จึงมีคำกล่าวที่ว่า เวลาใครพูดมาก ถ้าปากกับตาไม่ตรงกัน ขอให้เชื่อดวงตา ดีกว่า เชื่อลมปาก จริงไหม จงฝึกตนให้เป็นคน พูดจริง จากใจจริง ด้วยความจริงใจแล้วจะได้รับความไว้วางใจ แล้วจะก่อให้เกิดมิตรภาพที่ดี

                                2.10 ใจ ใจก็มีส่วนสัมพันธ์กับลักษณะต่างๆ จงฝึกให้เป็นคน จริงใจ ใจจริง จริงจัง จิรังยั่งยืน คือ คนเสมอต้นเสมอปลาย คงเส้นคงวา

                                2.11 บุคลิก ลักษณะบุคลิกของคน ฝึกได้พัฒนาได้ ถ้าเราเป็นคนอยากพัฒนาปรับปรุงตนเองไม่ใช่ของยากเลย อาทิ

                                                1.             ฝึกให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง พึ่งตนเอง

                                                2.             ฝึกให้เข้ากับคนอื่นได้ พยายามชอบคน              อื่นแล้วเขาจะชอบเรา

                                                3.             ฝึกให้เป็นคนกระปรี้กระเปร่า ว่องไวกระฉับกระเฉง

                                                4.             ฝึกให้เป็นคนตรงต่อเวลา ควบคุมตนเองให้ได้

                                                5.             ฝึกให้รู้จักกาลเทศะ รู้จักให้ เห็นใจคน

                                                6.             ฝึกแต่งกายให้สะอาด เรียบร้อย สุภาพ มีชีวิตชีวา

                                2.12 การทำงาน  การทำงานต้องรู้จักใจนาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ให้เข้าใจกันให้ได้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความอึดอัด ข้อขัดแย้ง ความไม่สบายใจ ให้พอใจในการทำงาน จึงควรปฏิบัติตนกับหัวหน้าของเราดังนี้

                                                1.             หัวหน้าจะรู้ปัญหา อุปสรรค จากเราเป็นคนแรก มิใช่ให้ท่านเรียกไปถาม

                                                2.             หัวหน้าจะรู้ข้อบกพร่อง ผิดพลาดของเราจากเรา มิใช่จากผู้ร่วมงาน หรือท่านไปพบด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้เราจะต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นคนที่

                                                                2.1          รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ

                                                                2.2          รู้ความจำเป็นของหัวหน้าที่จะต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับงานของเรา

                                                                2.3          มีความเข้าใจ รู้ใจ หัวหน้าดี และรู้ว่าอะไรควรรายงาน อะไรไม่ควร หัวหน้าเพียงคนเดียว ยังชนะใจไม่ได้ แล้วจะไปชนะใจคนอื่นๆ ได้อย่างไร พยายามนึกถึงหัวใจเรา ถ้าเราเป็นนายเขาบ้าง เราชอบแบบไหน

                                2.13 การเป็นหัวหน้าคน ใครๆ ก็เป็นได้ แต่จะเป็นได้ดีแค่ไหน เพียงใด หัวหน้าต้องรู้ความแตกต่างของลูกน้องแต่ละคนของตนดี รู้ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละคน จะได้สั่งงานเขาแต่ละคนได้ ปกติคนหรือลูกน้องมี 2 ประเภท คือ

                                                                1.             ประเภทหัวดื้อ หัวรั้น พวกนี้ชอบคัดค้านก่อนเสมอ ลังเลในการเปลี่ยนความเห็น ไม่ยอมจำนนในการโต้เถียง ไม่ยอมรับคำแนะนำ แสดงความไม่พอใจเมื่อสั่งให้ทำงานและไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

                                                                2.             การสั่งงาน ขออย่าสั่งกับพวกหัวดื้อ แต่พูดว่า ช่วยทำนี่ให้หน่อยนะขอร้องจะดี อย่าลืมโคนันทวิศาลชอบพูดหวาน ไพเราะ

                                โดยสรุป การปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย สมความปรารถนาได้นั้นต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี โดยถือ

                                ก.            มีไมตรี เมตตา เป็นมิตร มีมารยาท

                                ข.             หนักแน่น แนบเนียน  นอบน้อม ไม่เหนียวหนี้

                                ค.            ยิ้มแย้ม ยินดี ยกย่อง หยุด (ลด ละ เลิก)

                                ง.             สัจจะ  เสียสละ สามัคคี สงเคราะห์

                                จ.             พูดเพราะ พิจารณา  พร้อม

 

                               

ส่งมาโดย  ผศ.นาม  ศิริเสถียร  ( 945 )