วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จัดระบบความคิด (จบ)


จัดระบบความคิด (จบ)

เปิดประเด็นไว้ใน ไอทีไร้พรมแดนวันอังคารที่แล้วถึงเรื่องการคิดแบบ Logical Thinking ซึ่งอาจฟังดูยากแต่จริงๆ แล้วมีเคล็ดลับให้ฝึกคิดสร้างความคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อประยุกต์ใช้ได้กับทั้งหน้าที่การงาน หรือเป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันก็ตาม

เกริ่นไว้ 3 ข้อแรก คือ การ จับประเด็นสำคัญ ที่ทุกวันนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะมีข้อมูลให้ต้องขบคิดต้องตัดสินใจมากเหลือเกิน แต่ในความหลากหลายของข้อมูลนั้น จะพบว่ามีประเด็นสำคัญจริงๆ อยู่ไม่กี่ข้อเท่านั้นซึ่งเราต้องหาให้เจอ ข้อสองคือรู้จัก ใช้สถิติข้อมูลต่างๆ เพื่อแยกแยะข้อมูลออกจากข้อมูลดิบ และข้อสามคือ การคิดให้แตกต่างในหลายๆ มิติ ซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงหรือมีมุมมองอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับการตัดสินใจของเราซุกซ่อนอยู่

ต่อกันในข้อที่สี่ คือ หมั่นตั้งคำถามให้กับตัวเองเสมอ เพราะโดยปกติวิสัยของคนทำงานมักจะทำในสิ่งที่ได้รับคำสั่งมาโดยอัตโนมัติจนแทบจะกลายเป็นเครื่องจักรไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งนิสัยเช่นนี้อาจมีข้อดีตรงที่ทำงานได้เรื่อยๆ ไม่มีอะไรสะดุดติดขัดหากสภาพแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความเป็นจริงนิสัยแบบนี้จะทำให้วิธีคิดไม่ยืดหยุ่น เพราะได้รับแค่คำสั่งแล้วไม่คิดต่อ ซึ่งถ้าผู้นำเป็นเช่นนี้องค์กรจะแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ เราจึงต้องหมั่นถามว่า ทำไม และปล่อยให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นกลไก ทำให้เราแสวงหาวิธีทำงาน แสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

การหิวความรู้และต้องการทราบคำตอบ จะทำให้เกิดการศึกษาที่ไม่หยุดนิ่ง และสร้างแรงบันดาลใจในการค้นคว้าหาคำตอบ ซึ่งคำตอบเหล่านั้นอาจเป็นข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาได้ในที่สุด การเริ่มต้นคิด การเริ่มต้นสงสัยสิ่งต่างๆ จึงเป็นที่มาของ Logical Thinking ให้เราได้

ข้อห้า ต้องหมั่นจดบันทึก เพราะการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยข้อมูลมากมาย ย่อมมีโอกาสหลงลืม หรือสับสนจนเลือกใช้ข้อมูลผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ การจดบันทึกความคิดของเราในช่วงต่างๆ จึงช่วยให้ค่อยๆ ตกผลึกทางความคิด และกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ได้ทีละน้อยๆ จนสมบูรณ์แบบที่สุด

การจดบันทึกยังทำให้มีที่มาที่ไปทางความคิด คือ รู้ว่าเริ่มต้นคิดอย่างไร และวางแผนไว้อย่างไร ฯลฯ ทำให้วิเคราะห์รูปแบบการคิดในภายหลังได้ ซึ่งจะง่ายต่อการนำแนวทางที่คิดไว้ไปทำให้เป็นแผนปฏิบัติงานได้ในภายหลัง

ข้อสุดท้าย ต้องหมั่นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นอยู่เสมอ ทั้งที่มีลักษณะนิสัยคล้ายกัน มีแนวคิดใกล้เคียงกัน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม แต่เท่านี้อาจยังไม่พอเพราะความคล้ายคลึงกันอาจทำให้มีมิติทางความคิดที่ไม่หลากหลายนัก

บางครั้งการคุยกับบุคคลอื่นที่อยู่ต่างสาขาวิชาชีพ ต่างวัย ต่างอุตสาหกรรม ก็อาจทำให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นและมองเห็นจุดอ่อนของตัวเองได้ในที่สุด เพราะความเห็นที่หลากหลายจะผสมผสานความคิดของแต่ละคนเข้าด้วยกันทำให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้โดยมีมิติความคิดที่กว้างขึ้น

การจะคิดได้เป็นระบบเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะฝึกฝนเพื่อสร้างความรอบคอบและสร้างกลไกการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดได้ เพราะการตัดสินใจอาจเป็นเรื่องยาก เมื่อคิดถึงผลที่ตามมาหากตัดสินใจผิดพลาดแต่กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบจะทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้อาศัยโชคชะตาหรือชาติกำเนิด แต่เป็นการเรียนรู้ที่ฝึกฝนกันได้และช่วยให้ค่อยๆ ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ นำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในท้ายที่สุด

ที่มา : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ (กรุงเทพธุรกิจ 8 .. 55)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น