วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สหกรณ์ย่อมซื้อหุ้นของสหกรณ์อื่นได้


สหกรณ์ย่อมซื้อหุ้นของสหกรณ์อื่นได้

ศาสตราจารย์พิเศษ อาบ นคะจัด (77)

นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งประเทศไทย

          ผมได้อ่านบทความชื่อว่า “เรื่องหุ้นๆ ในสหกรณ์” ในข่าว สอ.มก. สิงหาคม 2555 โดย “ครูรงค์” ซึ่งนำเอาบทบัญญัติมาตรา 33 (2) และ (3) ของ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ที่เป็นเรื่องหรือประเด็นการจัดตั้งและจดทะเบียนสหกรณ์ (การเกิดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์) มาปรับกับบทบัญญัติมาตรา 62 (5) ที่เป็นเรื่องหรือประเด็นการดำเนินงานของสหกรณ์ หลังจากได้สภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว ครูรงค์เหมือนเข้าใจว่าบทบัญญัติสองมาตราของกฎหมายนั้นขัดกันอยู่เป็นผลให้สหกรณ์ที่ซื้อหุ้นจะไม่ได้สถานภาพเป็นสมาชิกของสหกรณ์ที่ขายหุ้น

        ความจริงมาตรา 33 (2) และ (3) เป็นประเด็นการได้สภาพเป็นนิติบุคคลในรูปสหกรณ์ ส่วนมาตรา 62 (2) เป็นประเด็นความสามารถ (กระทำการ) ของนิติบุคคลสหกรณ์ในแนวทางที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บัญญัติไว้ในลักษณะ 2 หมวด 1 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยสภาพบุคคลธรรมดา และส่วนที่ 2 ว่าด้วยความสามารถ (กระทำการ) ของบุคคลธรรมดา

        ภายใต้กฎหมายสหกรณ์และข้อบังคับของสหกรณ์ สหกรณ์ใดจะนำเงินของสหกรณ์ไปซื้อหุ้นของสหกรณ์อื่นได้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นั้น จะต้องพิจารณาอนุมัติก่อนว่าสินค้า (goods) หรือบริการ (Services) ของสหกรณ์อื่นนั้น จะเป็นผลประโยชน์แก่สหกรณ์ของตนเพียงใดหรือไม่ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด (สอ.มก.) ย่อมซื้อหุ้นของสหกรณ์ร้านค้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด (สร.มก.) ได้เพราะว่า สอ.มก. จะได้ผลประโยชน์ในการซื้อหุ้นและเป็นสมาชิกของ สร.มก. จากการซื้อวัตถุสินค้า อุปโภคบริโภคต่างๆ ในแต่ละปีการบัญชีของ สร.มก. นั้น สอ.มก. จะได้ประโยชน์ คือ เงินปันผลตามหุ้น และเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนแห่งการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องเขตแดนดำเนินการ หรือข้อบังคับของตนว่าด้วยการขายหุ้นให้แก่สหกรณ์อื่นไว้โดยชัดแจ้ง หรือไม่ก็ตามคณะกรรมการดำเนินการ สร.มก. ย่อมมีอำนาจอนุมัติให้ สร.มก. ขายหุ้นให้ สอ.มก. ได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 62 (5) ของ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และหมายความว่า สร.มก. อนุมัติให้ สอ.มก. เป็นสมาชิกของตนได้ ส่วน สอ.มก. ก็สามารถส่งผู้แทนของตนตามบทบัญญัติ มาตรา 51 ของ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ไปร่วมประชุมต่างๆ ของ สร.มก. รวมทั้งเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการต่างๆ ที่ สร.มก. อาจแต่งตั้งขึ้นก็ได้

        สหกรณ์ประเภทร้านค้าและสหกรณ์ ประเภทบริการ  ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะขายหุ้นของตนให้แก่สหกรณ์อื่นได้ หากสหกรณ์อื่นยื่นคำขอซื้อหุ้นของตนภายใต้บทบัญญัติมาตรา 62 (5) ของ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542

        เช่นถ้ามีสหกรณ์ผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถ; สหกรณ์บริการการบัญชีและการตรวจสอบกิจการ; สหกรณ์โรงพยาบาล  สหกรณ์อื่นที่เห็นว่าจะได้ผลประโยชน์จากบริการของสหกรณ์บริการดังกล่าว ก็อาจซื้อหุ้นของสหกรณ์นั้นๆ ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 62 (5) แห่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น