วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การพัฒนาสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของ สอ.มก.


การพัฒนาสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของ สอ.มก.

วนิดา ศรีทองคำ (8163)[1]*

งานสหกรณ์ เวลาเป็น  เป็นช้าๆ  แต่เวลาตาย  ตายเร็วที่สุด เมื่อตายแล้วศพจะเป็นช้าง   ไม่ใช่ศพหนู พระดำรัสเปรียบเปรยงานสหกรณ์ของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ นายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก       ในขณะที่สมาชิกบางท่านบอกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สอ. มก.) ไม่มีทางล้มหรือตายได้  ด้วยเหตุว่า สอ.มก. ตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งปี 2502 จนถึงปัจจุบันนับว่าเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ มีฐานะการเงินที่มั่นคง โดยมีทุนเรือนหุ้น 4,387 ล้านบาท เงินรับฝาก 11,179 ล้านบาท เงินให้สมาชิกกู้ 3,504 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 19,629 ล้านบาท (ข้อมูลเมื่อ 31 ธันวาคม  2554 ) นอกจากนี้สอ. มก. ยังได้กำหนดให้มีการหักเงินเดือนเป็นทุนเรือนหุ้นและการชำระหนี้  เป็นหน่วยงานที่ไม่ต้องเสียภาษี ไม่มีคู่แข่ง          แต่เนื่องจากสภาพความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ  การเมือง สังคม  เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เช่น วิกฤติการการเงินในยุโรป การเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ หากสมาชิกมองไม่ออก หรือละเลย        ต่อจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง และไม่พยายามมองหาหนทางช่วยเหลือ อาจเป็นสาเหตุให้งานสหกรณ์ล้มเหลวและ    ไม่ยั่งยืนได้  ดังนั้นสมาชิกจึงถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ควรได้รับการพัฒนา

การพัฒนาสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของ สอ.มก. ด้วยการศึกษา

          สหกรณ์เป็นระบบสากลที่ทั่วโลกยอมรับร่วมกันว่าสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้    สมาชิก      ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์และหลักการสหกรณ์  สมาชิกบางคนเคยศึกษาสาขาวิชาสหกรณ์        ในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว  สำหรับสมาชิกที่ไม่เคยศึกษาควรเข้าร่วมการอบรม สัมมนา หรือประชุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้สหกรณ์ จากโครงการต่างๆ ที่ สอ. มก. จัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิก เช่น เข้าร่วมการสัมมนาในโครงการปฐมนิเทศสมาชิก  เป็นต้น ขออภัยค่ะ ปฐมนิเทศสมาชิก เฉพาะสมาชิก 1XXXXX ขึ้นไปค่ะ ขอบคุณที่ให้ความสนใจโครงการฯ ค่ะ  คำปฏิเสธการขอเข้าร่วมโครงการปฐมนิเทศสมาชิกสหกรณ์    เมื่อไม่สามารถเข้าร่วมเพื่อรับความรู้ใหม่ได้ สมาชิกก็สามารถฝึกฝนตนเองให้มีความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์จากอ่านเอกสาร ตำราทั้งภาษาไทย และต่างประเทศเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็น ประสบการณ์เกี่ยวกับสหกรณ์   และไม่เฉพาะการศึกษาหาความรู้ด้านสหกรณ์ แต่ควรศึกษาหาความรู้ด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางสังคม และด้านธุรกิจ  เช่น การบริหารการเงิน การบริหารความเสี่ยง การลงทุน เป็นต้น การให้การศึกษาแก่สมาชิกเป็นหลักการที่สำคัญ ของ สอ.มก.           สำหรับพนักงานใน สอ.มก. และคณะกรรมการดำเนินการก็ควรได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ จึงจะทำให้การดำเนินงานสหกรณ์เป็นไปอย่างราบรื่น

การพัฒนาสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของ สอ.มก. ด้วย วิถีประชาธิปไตย

          การพัฒนาสมาชิกซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกัน ให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ ตามวิถีประชาธิปไตย          สมาชิกของ สอ. มก. ประกอบด้วย ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยเงินงบประมาณ  ลูกจ้างประจำ  พนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้ ทุกวิทยาเขต จำนวนประมาณ ร้อยละ 66 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประมาณ 8,230 ราย (ข้อมูลสมาชิก กรกฎาคม 2554) ทุกคนเป็นเจ้าของ สอ.มก. ร่วมกัน

สมาชิกหลักพัน...ไปใช้สิทธิลงคะแนนหลักร้อย....

         สมาชิกต้องพัฒนาตนเองให้ทำหน้าที่ของสมาชิกที่ดีด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่ สอ. มก. กำหนด  การสรรหาคณะกรรมการดำเนินงาน เป็นตัวจักรสำคัญในการบริหารจัดการ สอ.มก. หากเลือกตั้งกรรมการดำเนินการที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทน การบริหารหนี้สิน สร้างความมั่นคงทางการเงิน จะทำให้       สอ. มก. มีสภาพคล่องในการชำระหนี้  สมาชิกจะได้รับประโยชน์ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการครั้งล่าสุด ผู้เขียนสังเกตจากคะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้ง พบว่ามีคะแนนไม่สูงเท่ากับจำนวนสมาชิกแสดงว่ามีสมาชิกหลายท่านนอนหลับทับสิทธิ  นอกจากใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วสมาชิกยังสามารถเสนอตัวเพื่อรับการเลือกตั้งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสหกรณ์ โดยไม่ถูกกีดกัน

สมาชิกคนหนึ่งออกเสียงได้หนึ่งเสียงเท่ากัน (one member, one vote)      

            สำหรับสิทธิในการลงมติ การอภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สอ.มก. ในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกคนหนึ่งออกเสียงได้หนึ่งเสียงเท่ากัน (one member, one vote) ก่อนที่สมาชิกจะร่วมอภิปรายปัญหา            ให้ข้อคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ สอ.มก.  หรือให้เหตุผลในข้อที่เห็นแย้งกับการดำเนินงาน    ในการประชุมสามัญประจำปี   สมาชิกควรศึกษาและติดตามผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะหมายเหตุประกอบงบการเงินในรายงานประจำปี และศึกษาข้อเสนอแนะ หรือข้อสังเกตจากผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์            เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาลงมติ ให้คณะกรรมการดำเนินการนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อจัดสรรผลประโยชน์      ทางเศรษฐกิจอย่างยุติธรรม  นอกจากนี้ควรร่วมออกเสียงยอมรับมติที่ประชุมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ เพื่อความยั่งยืนของ สอ. มก.

การพัฒนาสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของ สอ.มก. ด้วยการเสริมสร้างวินัยทางการเงินและจิตสำนึกต่อสังคม

          สอ.มก. ให้บริการด้านการเงินทั้งรูปแบบการออมและการให้กู้ เพื่อให้สมาชิกมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น มั่นคงขึ้น วินัยทางการเงิน (Money Machine) ของสมาชิก   เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ สอ. มก. ยั่งยืน  สมาชิกต้องรู้จักออม สมาชิกสามารถวางแผนการออมด้วยหุ้นโดยใช้โปรแกรมคำนวณเงินออมจากการสะสมหุ้นที่ สอ.มก. ได้ออกแบบระบบไว้ให้สมาชิกที่ http://www.coop.ku.ac.th/

         ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกเริ่มเป็นพนักงานงบประมาณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสมาชิกสหกรณ์เมื่ออายุ 25 ปี ได้รับเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท มีเงื่อนไข สมาชิกซื้อหุ้นสะสมแรกเข้าในอัตรา 900 บาท สมาชิก     ต้องส่งหุ้นเดือนละ 900 บาท โดยจะเพิ่มในปีถัดไปอีกเดือนละ 30 บาท ตามอัตราที่ สอ.มก.ประกาศไว้ สมาชิกวางแผนจะออมเงินปันผลสะสมเป็นหุ้นในแต่ละปีด้วยโดย สอ.มก. ให้อัตราเงินปันผลร้อยละ 6  และสมาชิกตั้งใจจะนำเงินออมออกมาใช้เมื่อเกษียณอายุ 60 ปี หมายถึงจะมีระยะการออม 35 ปี (25ปี+35ปี=60 ปี) โปรแกรมคำนวณแล้วสมาชิกจะมีเงินออม จำนวน 1,723,037 บาท จะเห็นว่า การออมจะทำให้สมาชิกมีเงินไว้ใช้จ่าย       เมื่อต้องออกจากงาน

         สมาชิกบางรายอาจกำหนดว่าเมื่อมีรายรับเข้ามาแล้วจะต้องกำหนดเป็นเงินออมเสียก่อน  ที่เหลือจึงจะเป็นค่าใช้จ่าย  ยกตัวอย่างเช่นหลังจากได้เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน ก็จะแบ่งจัดเก็บเป็นเงินออมในรูปทุนเรือนหุ้นหรือเงินฝากก่อน แล้วจึงจะนำไปใช้จ่าย เป็นต้น                   

          ใครไม่เป็นหนี้บ้าง..ยกมือขึ้น ...” สอ.มก. เป็นสหกรณ์ที่ช่วยเหลือด้านการเงินแก่สมาชิก   ทั้งการให้กู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน กู้สามัญ และกู้พิเศษ  การกู้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อมือถือ ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ได้บางครั้งไม่ได้ทรัพย์สินเพิ่ม แต่ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นเหตุให้มีขนาดของหนี้สินใหญ่กว่าทรัพย์สิน   สมาชิกควรกู้เงินสหกรณ์ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และกู้ในจำนวนที่ต้องการใช้เท่านั้น เนื่องจากการกู้เงินสหกรณ์มีเงื่อนไขเวลาในการชำระคืน สมาชิกควรใช้โปรแกรมคำนวณเงินผ่อนชำระ ที่สอ.มก. ได้ออกแบบระบบไว้ที่ http://www.coop.ku.ac.th/  โปรแกรมจะช่วยในการตัดสินใจที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน

       หากกู้จำนวนมาก อัตราผ่อนชำระจะสูงจนไม่มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน สมาชิกบางรายกู้สามัญเพื่อต่อเติมบ้าน ซึ่งหากมีการต่อเติมจริงบ้านหลังนั้นอาจจะยาวไปไกลสุดสายตา สมาชิกบางรายต้องขอให้เพื่อนสมาชิกกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินให้ เนื่องจากตนเองกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินไปแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายประจำวันเป็นต้น มองดูคล้ายๆ สอ.มก. และเพื่อนสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือสมาชิกตามอุดมการณ์สหกรณ์       ที่เกื้อกูลสมาชิกที่เดือดร้อนทางการเงิน ช่วยให้สมาชิกไม่ไปรับบริการทางการเงินจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะการกู้เงินนอกระบบซึ่งอาจทำให้เดือดร้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดกันเอง   แต่สมาชิกจะยังเครียดกับปัญหาหนี้สิน     ที่มากเกินและอาจไม่มีกำลังในการชำระหนี้ จนส่งผลให้ต้องออกจากงานซึ่งทำให้ สอ. มก. เกิดปัญหาในการติดตามหนี้สิน ดังนั้น การพัฒนาสมาชิกให้มีวินัยทางการเงิน     สมาชิกควรจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการประหยัดและการออม ลดขนาดความต้องการที่จะใช้เงินสร้างความสุขในชีวิตปัจจุบัน

          การพัฒนาสมาชิกให้เป็นผู้มีจิตสำนึกต่อสังคม   คณะกรรมการดำเนินการและสมาชิกทุกคนควรสนับสนุนการลงทุนโดยคำนึงถึงสังคม (Socially Responsible Investing – SRI) เช่น การไม่นำเงินไปลงทุนในกิจการ    ที่เป็นโทษต่อสังคมอันได้แก่ กิจการเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ การพนัน การค้าอาวุธ เป็นต้น          การลงทุนโดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์แห่งอื่นๆ เป็นการลงทุนเพื่อสังคมและช่วยกันขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ไทยอีกแรงหนึ่ง นอกเหนือจากการแบ่งกำไรบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสมาชิกได้พัฒนาจิตสำนึกต่อสังคม อีกประการที่สมาชิกต้องพัฒนาคือ ต้องฝึกจิตสำนึกการบริจาค ถึงแม้อัตราเงินปันผลที่จ่ายให้แก่สมาชิก ไม่ได้เป็นเครื่องวัดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ   และน่าเชื่อถือได้มากที่สุด แต่อาจเป็นแรงดึงดูดความนิยม และเสริมสร้างความภักดีต่อสอ.มก. ดังนั้นคณะกรรมการดำเนินการจึงต้องบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง โดยขอมติการจัดสรรตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับ  ส่วนกำไรที่เหลือสมาชิกควรเต็มใจและให้ความร่วมมือลงมติเห็นชอบการจัดสรรเพื่อประโยชน์การใช้จ่ายของส่วนรวม หรือเพื่อมอบให้แก่สังคม  เช่น จัดสรรเพื่อกองทุนสาธารณประโยชน์ เพื่อการศึกษา หรือจัดสรรเพื่อมอบให้ผู้ทำประโยชน์/องค์กรที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น นอกจากนี้สมาชิกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง เมื่อตัดสินใจใช้บริการทางการเงิน เช่นนำเงินมาฝากกับ สอ. มก. เมื่อสถาบันการเงินภายนอก       ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า สมาชิกก็จะไม่ทอดทิ้ง สอ.มก. โดยหันไปใช้บริการทางการเงินกับแหล่งอื่น  สมาชิกจึงต้องพัฒนาจิตสำนึกของการพึ่งพากัน เพราะ สอ.มก. ไม่ได้เป็นองค์กรที่หวังกำไรสูงสุด ยังต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากสมาชิก

บทสรุป การพัฒนาสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของ สอ.มก.

            การพัฒนาสมาชิก สอ. มก. ให้เป็นผู้มีทุนทางปัญญา  มีความรู้  มีความเข้าใจอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์  มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านธุรกิจ รู้จักสิทธิ และหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย             ไม่นอนหลับทับสิทธิ รู้จักช่วยกันดูแลกิจการทั้งในฐานะเจ้าของร่วมกัน และในฐานะสมาชิกที่ดี และมีจิตสำนึกต่อสังคม การมีโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกชุมชนและสังคมที่สมาชิกร่วมอาศัยอยู่  จะเป็นเสาหลัก    ที่ทำให้ สอ.มก. มีความยั่งยืนบนหลักการสหกรณ์ และเป็นองค์กรที่มีคุณค่าต่อสังคมตลอดไป

เอกสารอ้างอิง

ครบรอบ 60 ปี ของงานสหกรณ์. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520

รายงานประจำปี 2554 สหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด. กรุงเทพฯ: อักษรสยาม                                  การพิมพ์ , 2555.

สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. http://www.coop.ku.ac.th/



*  ผู้ที่ส่งบทความเข้าประกวด ได้รับรางวัลที่ 1 หุ้น สอ.มก. 10,000 บาท
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น