วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นสหกรณ์และเงินฝาก เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส


หุ้นสหกรณ์และเงินฝาก เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส

เนติธรรม (12883)

            สวัสดีท่านสมาชิก สอ.มก. ทุกท่าน ห่างหายไปนานเนื่องจากติดภารกิจต่างๆ วันนี้กระผม         จึงได้มีโอกาสนำประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ และน่าจะเกิดประโยชน์ต่อชาวสมาชิกชาว สอ.มก. มาเล่าสู่กันฟัง และหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชาวสมาชิก ในหัวข้อที่ว่าหุ้นสหกรณ์และเงินฝาก เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสโดยกระผมเห็นว่า กฎหมายนั้น ไม่เพียงแต่เป็นกฎเกณฑ์ หรือบทบังคับกับบุคคลในสังคม     เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังรวมถึงการวางแผนการใช้ชีวิตของเราๆ ท่านๆ อีกด้วย กล่าวคือ หากท่านรู้กฎหมาย ท่านก็สามารถวางแผนอนาคตให้สามารถดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายอีกด้วย เพื่อท่านจะได้ไม่เสียเวลา หรือเสียโอกาสต่างๆ ในชีวิต

            ในเบื้องต้นกระผมจะขออธิบายว่า อย่างใดเป็นสินส่วนตัว อย่างใดเป็นสินสมรสก่อน และเมื่อท่านเข้าใจแล้ว กระผมจะนำมาผูกโยงเข้ากับเรื่องหุ้นสหกรณ์และเงินฝากว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส หรือไม่อย่างไรในลำดับต่อไป

            ตามหลักกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มีคำย่อว่า ...) เมื่อชายหญิงตกลงปลงใจเป็นอยู่กินฉันท์สามีภรรยากัน และผ่านการจดทะเบียนสมรสแล้ว ความผูกพันนี้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัว คือ อยู่กินกันแบบสามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน และความสัมพันธ์ทางด้านทรัพย์สิน ซึ่งแยกเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส

            สินส่วนตัว นั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่สามีภรรยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สร้อยคอแหวนเพชร เครื่องประดับ นาฬิกาตามควรแก่ฐานะ เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือแม้แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หา รวมทั้งทรัพย์สินที่เคยให้ไว้เป็นของหมั้น เช่น ก่อนจะแต่งงานนางเรยา มีบ้านหนึ่งหลัง มีรถเก๋งหนึ่งคัน หลังจากที่ได้แต่งงานแล้ว นางเรยา มีอาคารชุด 1 หน่วยเพิ่มเข้ามาพร้อมรถเก๋งอีก 1 คัน แม้ว่าทั้งอาคารชุด และรถเก๋งคันใหม่ นางเรยา จะซื้อมาโดยเงินเดือนตนเองแต่ลำพัง แต่ในทางกฎหมายแล้วย่อมถือว่าเป็นสินสมรส เพราะทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ส่วนบ้านกับรถเก๋งเป็นของที่นางเรยา  มีมาแล้วแต่เดิมก่อนแต่ง จึงถือเป็นสินส่วนตัวของนางเรยาคนเดียว

            แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้แจกแจงไว้อย่างละเอียดว่า สินส่วนตัวนั้นมี 4 ประเภท (.. มาตรา 1471) คือ

            (1)  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส หมายถึง ทรัพย์สินทุกอย่างที่ชายหรือหญิง เป็นเจ้าของ หรือได้มาก่อนที่จะทำการสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น บ้าน ที่ดิน เงินทอง แต่ขอเน้นว่าต้องทำการสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายจึงจะคุ้มครอง

            (2)  ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ ซึ่งหมายถึง เสื้อผ้า เครื่องอัญมณี เครื่องทอง เครื่องเพชร อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าชายหรือหญิงนั้นมีฐานะอย่างไร ร่ำรวยหรือยากจน ไม่ได้มีการจำกัดในเรื่องของราคา ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้น เช่น หญิงเป็นหมอฟันมีเครื่องมือในการทำฟันราคา 120,000 บาท เครื่องมือนี้ก็เป็นสินส่วนตัวของหญิงนั้น

            (3)  ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือได้มาโดยเสน่หา หมายถึง ทรัพย์มรดกต่างๆ ไม่ว่าได้มาในฐานะทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมจะระบุว่าให้เป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาร่วมกัน ส่วนการให้โดยเสน่หา หมายถึง มีผู้ยกให้ เช่น บิดายกที่ดินให้ชาย ที่ดินก็เป็นสินส่วนตัวของชายนั้น เว้นแต่การยกให้ระบุว่าให้เป็นสินสมรสระหว่างสามีและภรรยา

            (4)  ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น จะถือเป็นสินส่วนตัวของผู้หญิง หมายถึงของหมั้นที่ชายหมั้นหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องเน้นอีกว่าการหมั้นนั้นจะต้องเป็นการหมั้นโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น   ของหมั้นจึงจะเป็นสินส่วนตัวของหญิงนั้น

            นอกจากนี้ ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น เปลี่ยนสภาพไป เช่น นำไปขายและได้เงินมา    นำไปแลก หรือซื้อของอื่น ให้ถือว่าเงิน หรือของที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวด้วย

            กฎหมายกำหนดว่าสินส่วนตัว ถ้าได้แลกเปลี่ยน ซื้อ หรือขายทรัพย์หรือเงินที่ได้มานี้จัดว่าเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นต่อไป (... มาตรา 1472) แม้ว่าจะได้มาระหว่างสมรสก็ตาม ซึ่งเราจะเรียกกันว่า ของแทนสินส่วนตัว เช่น ก่อนจะแต่งงาน นางดีนี่ มีบ้านที่เชียงรายอยู่หลังหนึ่ง นายโอมก็มีรถยนต์อยู่หนึ่งคัน พอทั้งคู่แต่งงานกันได้ไม่นาน นางดีนี่ก็เอาบ้านที่มีไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินของเพื่อนที่พัทยา     ส่วนนายโอมเองก็ขายรถยนต์คันดังกล่าวได้เงินมาสี่แสนบาท อย่างนี้ที่ดินใหม่ของนางดีนี่กับเงินสี่แสนบาทของนายโอม จัดว่าเป็นสินส่วนตัวอยู่เดิม หรือก่อนจะแต่งงานนางดีนี่มีบ้านอยู่มีบ้านอยู่หนึ่งหลัง แต่งหลังจากที่แต่งงานกับนายโอมได้ไม่นาน เกิดไฟไหม้บ้านของนางดีนี่หมดไปทั้งหลัง แต่ปรากฏว่า นางดีนี่ได้ทำประกันไว้ บริษัทประกันภัย จึงจ่ายค่าเสียหายให้หกแสนบาทเท่ากับราคาบ้าน ในกรณีนี้เป็นเรื่องทรัพย์สินใดจัดว่าเป็นสินส่วนตัวที่สามีหรือภรรยามีอยู่แล้วก่อนสมรสต่อมาได้สูญหายบุบสลายไป แต่ก็มีของอื่นเข้ามาแทนที่ คือเงินหกแสนบาทเข้ามาแทนที่มูลค่าบ้าน จึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางดีนี่    เพราะเป็นของแทนบ้านอันเป็นสินส่วนตัวอยู่แล้วแต่เดิม

          การจัดการสินส่วนตัว กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสจัดการสินส่วนตัวของตนเอง (... มาตรา 1473) คือ สินส่วนตัวของสามีก็เฉพาะสามีเท่านั้นที่สามารถจัดการทรัพย์สินได้ ตามกฎหมายแล้วภรรยาไม่สามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยได้ เช่น ก่อนแต่งงานสามีมีที่ดินที่เชียงใหม่ หลังจากแต่งงานแล้ว หากสามีจะขายหรือให้เช่าโอนให้บุคคลอื่น สามีก็สามารถกระทำเพียงลำพังได้ไม่จำเป็นต้องไปขอความยินยอมจากภรรยาดังเช่นทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส และก็มีอำนาจฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับสินส่วนตัวได้โดยลำพัง             ภรรยาไม่สามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องได้

          ลักทรัพย์สินส่วนตัว ถ้าหากว่าสามีเกิดไปขโมยหรือฉ้อโกงทรัพย์สินของภรรยา (สินส่วนตัว) ว่ากันตามหลัก สามีย่อมมีความผิดอาญา อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็อนุโลมว่าความผิดดังกล่าวที่สามีกระทำต่อภรรยาหรือภรรยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 71)

          สินสมรส คือ ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา นอกจากที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส (... มาตรา 1470) นอกจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาหลังแต่งงาน และสามีภรรยาเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งกฎหมายกำหนดประเภทของสินสมรส (... มาตรา 1474) ดังนี้

1.    ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์ทุกอย่างที่ได้มาในระหว่างที่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นว่าเป็นสินส่วนตัวตามที่กล่าวมาในตอนต้น เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เงินรางวัล  เงินบำนาญ

2.    ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

3.    ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว หมายถึง เมื่อนำทรัพย์สินที่เป็นของส่วนตัวมาประกอบกิจการแล้วได้ดอกผล กำไร หรือค่าเช่า หรืออื่นๆ ทำนองนี้ สิ่งที่งอกเงยมานี้ถือเป็นสินสมรส เช่นดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล ดอกเบี้ยจากเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัว ค่าเช่าจากทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว            เงินปันผล จากหุ้นที่เป็นสินส่วนตัว

4.    ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เป็นหน้าที่ของชายหรือหญิงที่อ้างว่าทรัพย์นั้นเป็นสินส่วนตัวจะต้องนำสืบในชั้นศาลพิสูจน์ว่าทรัพย์นั้นเป็นสินส่วนตัวของตนเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. เงินฝากในบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผู้เดียวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส

    ตอบลบ