วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

“โอนลอย...อันตราย”


“โอนลอย...อันตราย”

สงวน วุฒิกรวงศา (7122)

          เรื่องของการ “โอนลอย” ในการซื้อในการขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ขายต้องระมัดระวังให้ดีในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (รถที่ขายไป) ว่าได้โอนไปยังผู้ซื้อตามกฎหมายหรือไม่ มิฉะนั้นจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาของผู้ขายได้ในภายหลัง ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้ว กล่าวคือบุตรของผู้เขียนเองได้ขายรถยนต์คันหนึ่ง (เก่ามากแล้ว) ให้กับเต้นท์ขายรถมือสองไปเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2546 และก็ไม่ได้ถ่ายหลักฐานใบสำคัญการโอนลอยไว้ จนกระทั่งได้รับหนังสือจากสำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 4 (หนองจอก) ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ความว่าให้ส่งป้ายทะเบียนรถและนำใบคู่มือจดทะเบียนรถมาบันทึกการระงับจดทะเบียนรถ พร้อมทั้งชำระภาษีที่เพิ่มที่ค้างชำระอีก 5,374.12 บาท ซึ่งได้ค้างชำระติดต่อกันครบสามปี เพราะมิฉะนั้นจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ 2522

          น่าจะยุ่งแล้วครับ “โอนลอย” ประเด็นปัญหาก็คือ ผู้ซื้อรถต่อจากเต้นท์ขายรถมือสองมิได้นำหลักฐานการซื้อขายไปจดทะเบียนโอน ณ สำนักงานขนส่งฯ จนล่วงเลยมาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งอายุความการจดทะเบียนรถต้องถูกระงับไปโดยกฎหมาย (รถกลายเป็นเศษเหล็กไปโดยปริยาย) ดังนั้นแน่นอนบุตรของผู้เขียนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถที่ขายต้องตกเป็นผู้รับผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522

          แต่ช่องทางแก้ต่างก็ยังพอมีอยู่ กล่าวคือได้อ้างชื่อเจ้าของเต้นท์ขายรถมือสองที่รับซื้อรถ พร้อมทั้งแนบสำเนาเสียภาษีประจำปีก่อนขายรถที่เก็บไว้ 2 ปีไปเป็นหลักฐานด้วยโดยได้ตอบหนังสือไปยังสำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 4 (หนองจอก) ในนามบุตรของผู้เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2550 อ้างว่ากรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ขายได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ได้ความว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อทำสัญญาซื้อขายกัน” และตามฎีกาที่ 1025/2522 ฎีกาที่ 1562/2522 ได้ความว่า “การซื้อขายรถยนต์ เมื่อผู้ขายและผู้ซื้อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันที” และฎีกาที่ 60/2524 ความว่า “ซื้อขายรถยนต์เสร็จเด็ดขาด (ชำระราคาแล้ว) กรรมสิทธิ์โอนขณะทำสัญญา” (จดทะเบียนโอนเป็นเรื่องทีหลัง) ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ควบคุมยานพาหนะและเสียภาษีรถยนต์ ไม่ใช่แบบนิติกรรม ซึ่งผู้เขียนไม่ได้อ้างมาตราและฏีกาไป เพียงนำมาขยายความเพื่อให้ทราบในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เท่านั้น และทุกอย่างก็ยุติลงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

          ทางที่ดีการซื้อขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ควรไปโอนกัน ณ สำนักงานขนส่งจะปลอดภัยกว่า หรือถ้า “โอนลอย” ก็สำเนาเก็บหลักฐานไว้ไม่ประมาท ทั้งนี้หากผู้ซื้อรถนอกจากจะไม่นำหลักฐานไปโอนแล้วอาจนำรถไปก่ออาชญากรรม เช่น นำไปลักทรัพย์หรือปล้นทรัพย์และกระทำผิดกฎหมายอื่นใด ปัญหาที่จะแก้ไขแก้ต่างก็ยุ่งยากยิ่งขึ้นอาจถึงขั้น “โอนลอยอันตราย” จำต้องย้ายนิราศสถานไปอยู่ในทัณฑสถานก็เป็นไปได้!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น