วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บริหารน้ำอย่างไร


“บริหารน้ำอย่างไร”

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม

จึงมีน้ำเป็นปัจจัยอันใหญ่หลวง

หากต้นน้ำกลางน้ำปล่อยตามดวง

แล้วเมืองหลวงปลายน้ำจะทำไง

     อันต้นน้ำกำเนิดเกิดจากป่า

     ถูกถางพงลงมาทุกสมัย

     จนล้านเลี่ยนเตียนโล่งไร้พงไพร

     จะดูดซับรับไว้จึงไม่มี

          ถึงมีเขื่อนเก็บกักจักท่วมท้น

         หากน้ำล้นจำระบายหลายพื้นที่

         น้ำใต้เขื่อนไหลบ่าเจิ่งวารี

         ท่วมนาข้าวคราวนี้สิวอดวาย

 เมื่อกลางน้ำหลากไหลไปท่วมทั่ว

หมูเป็ดไก่ควายวัวย่อมสูญหาย

ไร้ที่อยู่ที่กินดิ้นหนีตาย

ผลสุดท้ายปลายเศร้าเข้าท่วมกรุง

      อุทาหรณ์ปลายปีห้าสี่นั้น

     ยังหวั่นๆ ครั้งก่อนนอนสะดุ้ง

     สามแสนล้านกู้เขากระเป๋าตุง

     หวังพยุงแก้ปัญหาน่ากังวล

          จะปลูกป่าต้นน้ำทำทันไหม

         ถึงปลูกได้ใช้เวลากว่ารู้ผล

         บริหารน้ำเขื่อนเตือนกรมชลฯ

         ต้องหลุดพ้นการเมืองเรื่องครอบงำ

 คลองส่งน้ำลำประโดงคงต้องใช้

ทางน้ำไหลกระจายกลุ่มที่ลุ่มต่ำ

แหล่งเก็บน้ำธรรมชาติอาจต้องทำ

กักเก็บน้ำเอาไว้ใช้หน้าแล้ง

      จะผันน้ำทางไหนเอาให้แน่

     อย่ามัวแต่เกี่ยงกันมันต้องแจ้ง

     ร่วมมือกันโปร่งใสไร้เคลือบแคลง

     ขืนขัดแย้งชิงดีมีแต่พัง

          ที่ปลายน้ำยามหลากยากส่งต่อ

         ต้องผ่านท่อคูคลองริมสองฝั่ง

         ได้ขุดลอกซักซ้อมพร้อมหรือยัง

         ซ่อมประตูติดตั้งเครื่องพอเพียง

 พวกบุกรุกริมคลองสองฝั่งฟาก

ถึงยุ่งยากจัดการมันต้องเสี่ยง

ขืนปล่อยปละละเว้นเลยเอนเอียง

ยากหลีกเลี่ยงปมปัญหาน่าหนักใจ

      เมื่อสะสมนานเข้าคือเป้าหลัก

     อุปสรรคจริงแท้ทางแก้ไข

     พอน้ำท่วมบ่งชัดเป็นปัจจัย

     อุทกภัยมันฟ้องต้องจัดการ

          สิ่งเหล่านี้นี่คือตัวปัญหา

         บอกให้เรารู้ว่าถ้าพ้นผ่าน

         ต้องร่วมมือเสียสละอาจจะนาน

         บริหารกันอย่างไรไม่ท่วมเมือง


                                      ชาญ  บุญญสิริกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น