วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

“งานที่ไม่ใช่”...ก็ต้องทำให้ดีที่สุด


งานที่ไม่ใช่”...ก็ต้องทำให้ดีที่สุด

สมาชิก 1430

          ผมชอบใจบทความเรื่อง งานที่ใช่ ของคุณนรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ที่ลอกจากกรุงเทพธุรกิจ มาลงข่าว สอ.มก. ฉบับเดือนมกราคม ’56 จึงอยากให้ข้อคิดเพิ่มอีกเล็กน้อย เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น

          เริ่มจากมองดูตนเองว่าขณะนี้อยู่ในช่วงใดกับงานที่ทำอยู่มันใช่หรือไม่ใช่ ยังพอจะแก้ไขได้ไหม แต่ส่วนใหญ่คงจะยากที่จะแก้ไขแล้ว เพราะได้เลือกงานกันมาเรียบร้อยแล้วใช่ไหม ก็คงต้องใช้ข้อคิดหรือคำแนะนำของ สตีฟจ๊อบ ที่ว่าถ้ามีโอกาสได้ทำงานอะไรก็ทำไปเยอะๆ (ให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ) สุดท้ายแล้วทุกอย่างที่เราได้ทำก็จะกลับมามีประโยชน์ต่อเราได้เองอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดไว้ก่อน เมื่อเวลามันมาถึง และผมขอเพิ่มหน่อยว่าอย่างน้อยก็ให้คุ้มค่าจ้างที่เราได้รับด้วย

          ในเมื่อฐานะความมั่นคงทางเศรษฐกิจมีพอแล้ว จึงค่อยคิดขยับขยายไปหางานที่เราชอบ (ใช่หรือไม่ใช่) ก็ย่อมได้หรือบางคนก็อาจทำงานที่ชอบควบคู่ไปด้วยก็ได้ถ้ามีความสามารถที่เรียกว่างานอดิเรก (เช่นบางคนก็ทำงานส่วนตัวเป็นอาชีพแต่ทำราชการเป็นงานอดิเรกก็มีใช่ไหม) เพราะชอบงานราชการที่เบาๆ สบายๆ ส่วนงานอาชีพส่วนตัวหนักๆ แม้ไม่ชอบหรอกแต่รายได้ดีกว่าเยอะ) เรื่องงานอาชีพสร้างรายได้ก็อย่างหนึ่งส่วนงานที่ชอบก็เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ แต่ต้องแบ่งใจและทำใจให้ได้ ส่วนใครโชคดีที่ได้ทั้งชอบและรายได้ดีด้วยก็ไปได้สวยมากทีเดียวเลยสำหรับชีวิต

          เพราะฉะนั้นในช่วงนี้สิ่งที่ควรทำและต้องทำดีสุดคือ ทำอย่างไรจะหางาน “ที่ใช่” ให้ลูกเราได้ (ถ้าไม่ใช่ลูกตัวเองลูกคนอื่นก็ได้นะ) ต้องคอยสังเกตแนะนำให้ลูกได้เรียนในสาขาที่ตรงกับงานที่ใช่ในอนาคตของเขาเอง (พ่อแม่อาจเคยโง่มาแล้วลูกเราจะต้องไม่โง่ตาม) อย่าคิดบังคับลูกให้ต้องทำอาชีพเหมือนพ่อแม่เสมอไป หรือให้ต้องเรียนและมุ่งแต่อาชีพที่มีรายได้สูงๆ เพียงอย่างเดียวเป็นสำคัญ ศึกษาให้ดีว่างานที่ใช่ของลูกคนนี้น่าจะเป็นอะไรแล้ววางแผนให้ไปสู่เป้าหมายนั้นเท่าที่จะทำได้นั่นคือหน้าที่ของพ่อ-แม่ (แต่ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่กรรมของลูกด้วยนะอย่าซีเรียสมาก)

          ผมพอมีประสบการณ์อยู่บ้างมาเล่าให้ฟังเช่น ตอนลูกชายผมเล็กๆ (.4) ก็ถามว่าโตขึ้นอยากทำงานอะไร เขาตอบว่า ขับรถเมล์แอร์ (นั่งเย็นสบายมากซิ) แล้วอะไรอีกล่ะ เป็นยาม รปภ.ที่ศูนย์การค้าก็ได้ (แต่งตัวหล่อเดินไปเดินมาไม่เหนื่อย) พอโตขึ้นหน่อยอยู่มัธยมรู้ว่าน่าจะต้องเรียนมหาวิทยาลัย เขาก็บอกว่าเข้ารามฯ ดีกว่าพ่อไปเรียนไม่ไปเรียนก็ได้ ถือสมุดเล่มเดียว) เห็นน้าที่บ้านเขาก็จบทำงานแล้ว ผมก็บอกว่าเอาที่เขาสอบเข้ากันซิจะได้สมศักดิ์ศรีเด็กสาธิตหน่อย สถาปัตย์ก็ได้พ่อ (ไว้ผมยาวแต่งตัวอย่างไรก็ได้สบายดี) ความคิดเปลี่ยนไปตามสถานภาพ

          การแนะแนวลูกต้องค่อยพูดอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงงานในอนาคตที่เราจะต้องอยู่จำเจกับมันไปเกือบตลอดชีวิต ถ้าได้งานที่ถูกนิสัยและเราชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นกว่า ส่วนรายได้แล้วแต่จะคิดนะตามแต่ความพอใจ (จะเอา GDP หรือ  GHP) วางแผนกันสักหน่อยดีกว่าให้ล่องลอยไปตามยถากรรม

          บางคนเรียนเก่งเลยต้องเรียนหมอคน หรือ หมอฟัน แต่ต้องมาทนอยู่กับคนป่วยคนไข้ต้องคอยอ้าปาก อ้าก้น ฯลฯ กรีดเลือดเป็นประจำ ถ้าชอบก็ดีจะได้ทำบุญช่วยเหลือคน ถ้าเป็นวิศวกรก็ต้องหนักเหนื่อยรับผิดชอบสูงเช่นกัน เลี้ยงกล้วยไม้ปลูกพืช ปลูกผัก เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ก็ได้แล้วแต่ชอบ สรุปแล้วพอมาอยู่สหกรณ์ก็ชักเห็นว่ารวยสู้ค้าเงินไม่ได้นะถ้าเก่งๆ เช่น เล่นหุ้น รวยเร็วและง่ายที่สุดก็ได้ แต่ก็เฉพาะบางคนหรอก  คนที่จนลงและหมดตัวจนเป็นหนี้เขาก็มี มักจะหลบลี้หนีหน้าไม่ยอมมาคุยเลย

          ท้ายที่สุดงานที่ทำอยู่ไง ถึงจะไม่ใช่ ก็ทำให้ดีที่สุดเถอะ...ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ไร้คุณค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น