วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สาละพระพุทธเจ้า (Shorea robusta)


สาละพระพุทธเจ้า (Shorea robusta)

ธวัชชัย  สันติสุข

ราชบัณฑิต สาขาพฤกษศาสตร์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสาละกับรัง

            สาละพระพุทธเจ้า (S.robusta) ในภูมิภาคเอเชียใต้ (อินเดียและเนปาล) มีลักษณะรูปพรรณโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับรัง (S. siamensis) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของลำต้นที่มีทั้งลำต้นสูงเปลาตรง หรือลำต้นที่คดงอ แคระแก็น เปลือกหนา สีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นร่องลึก ใบรูปไข่กว้าง โคนใบหยักเว้ารูปหัวใจ ผลมีปีกยาว 3 ปีก สั้น 2 ปีก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่ชอบแสงสว่าง โตช้า ทนไฟป่า และชอบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าผลัดใบที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกัน สาละและรังจึงเป็นพรรณไม้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากที่สุด กลุ่มหนึ่งในสกุล Shorea

            การนำต้นสาละเข้ามาปลูกในประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับเป็นพรรณไม้โตช้า และระบบรากต้องอาศัยเชื้อไมคอร์ไรซ่าในดิน เท่าที่มีการบันทึกการปลูกต้นสาละในประเทศไทยก็มี หลวงบุเรศ บำรุงการ นำมาถวายสมเด็จพระมหาวีรวงษ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถ 2 ต้น กับได้น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2510 อีก 2 ต้น ในจำนวนนี้ทรงปลูกไว้ในบริเวณพระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา 1 ต้น และพระราชทานให้วิทยาลัยเผยแพร่พระพุทธศาสนาบางละมุง จังหวัดชลบุรีอีก 1 ต้น อาจารย์เคี้ยน เอียดแก้ว และอาจารย์เฉลิม มหิทธิกุล ก็ได้นำต้นสาละมาปลูกไว้ในบริเวณคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และบริเวณค่ายฝึกนิสิตวนศาสตร์ สวนสักแม่หวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง พระพุทธทาสภิกขุ ก็ได้ปลูกไว้ที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  นายสวัสดิ์ นิชรัตน์ ผู้อำนวยการกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้นำมาปลูกไว้ในสวนพฤกษศาสตร์พุแค จังหวัดสระบุรี และมีผู้นำมาปลูกในบริเวณวัดบวรนิเวศอีกหลายครั้ง สาละที่นำมาปลูกดังกล่าว บางต้นยังคงอยู่ แต่มีการเจริญเติบโตช้ามาก

สาละกับพุทธประวัติ

          สาละเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน โดยที่พระนางสิริมหามายา พระราชมารดาของพระพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะถึงกำหนด พระสูติกาล ก็เสด็จจากรุงกบิลพัสดุ์ไปยังกรุงเทวทหะอันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง (ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ฝ่ายหญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านบิดามารดา) เมื่อขบวนผ่านมาถึงอุทยานลุมพินีอันตั้งอยู่ระหว่างนครทั้งสอง (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ใกล้ชายแดนภาคเหนือของประเทศอินเดีย พระนางทรงปวดพระครรภ์ บรรดาข้าราชบริพารก็รีบจัดที่ประสูติถวายใต้ต้นสาละใหญ่ เวลานั้นแดดอ่อน ดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศีรษะ เป็นวันเพ็ญ เดือน 6 (วันวิสาขปุรณมี) พระจันทร์จักโคจรเต็มดวงในยามเที่ยงคืน ชมพูทวีปเริ่มมีฝนอากาศโปร่ง ต้นไม้ในอุทยาน (ป่าสาละ) กำลังผลิดอกออกใบอ่อน ดอกสาละ ดอกจำปาป่า ดอกอโศก และดอกไม้นานาพรรณ กำลังเบ่งบานส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ พระนางสิริมหามายาประทับยืน พรหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งไม้รัง พระหัตถ์ซ้ายปล่อยตกประสูติพระโอรส (สิทธัตถกุมาร) ได้โดยสะดวก

            เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ได้ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน 6 ใต้ต้นมหาโพธิ์ (Ficus religiosa) ภายในป่าสาละใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธคยา แขวงเมืองอุรเวลาเสนานิคม ของรัฐพิหาร เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมแล้ว จึงเสด็จมาแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 (วันอาสาฬหปุรณมี) บริเวณป่าสาละอันร่มรื่น อุทยานมฤคทายวัน หรือ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตสารนาถ ทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี

            ในช่วงสุดท้ายที่ต้นสาละเกี่ยวข้องกับพุทธประวัตินั้น เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ได้เสด็จถึงสาลวโณทยานของมัลละกษัตริย์ (ตอนเหนือของตำบลกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ) เป็นเวลาใกล้ค่ำของวันเพ็ญ เดือน 6 (วันวิสาขปุรณมี) รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น ทรงเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยา คือเป็นการนอนครั้งสุดท้ายจนกระทั่งสังขารดับ

สรุป

            เดิมทีความเข้าใจเกี่ยวกับต้นสาละของชาวพุทธในประเทศไทย ยังค่อนข้างสับสน โดยเข้าใจว่าต้นสาละ (Shorea robusta) เป็นชนิดเดียวกับต้นรัง (S. siamensis) เพราะรูปร่าง, ขนาดของใบ และผลคล้ายคลึงกันมาก ประกอบกับต่างก็ชอบขึ้นเป็นกลุ่มด้วยเช่นกัน จากการสำรวจ ค้นคว้าพรรณไม้ทั้งสองชนิด ทำให้สามารถจำแนกชนิดสาละออกจากรังได้อย่างชัดเจน โดยอาศัยลักษณะภายอกที่เด่นชัด เช่น จำนวนเกสรเพศผู้ จำนวนเส้นแขนงใบและเส้นปีกของผล ความแตกต่างของสีใบในช่วงผลัดใบ ประเภทของป่าสาละและป่าเต็งรังที่มีองค์ประกอบพรรณไม้เด่นที่แตกต่างกัน ตลอดจนเขตการกระจายพันธุ์ของสาละในเขตภูมิภาคเอเซียใต้ ที่แยกชัดเจน จากเขตการกระจายพันธุ์ของรังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นสาละ (S.robusta) จึงเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติโดยแท้จริง

            สาละลังกาหรือลูกปืนใหญ่ (Couroupita surinamensis Mart. Ex Berg วงศ์ Lecythidaceae) เป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่บรรดาพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย สับสนเข้าใจว่าเป็นต้นสาละในพุทธประวัติ สาละลังกาเป็นพรรณไม้พื้นเมืองไม่ผลัดใบของประเทศเขตร้อน ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อชาวโปรตุเกสยึดครองประเทศศรีลังกาอยู่นั้นได้ทำลายวัดวาอารามพุทธศาสนา และนำต้นลูกปืนใหญ่ (cannon ball tree) จากอเมริกาใต้มาปลูกในสถานที่ต่างๆ ของศรีลังกาทั่วไป รวมทั้งบริเวณวัดพุทธที่ถูกทำลาย ชาวศรีลังกาเรียกต้นไม้นี้เป็นภาษาท้องถิ่นว่าสาละ (sal)” เช่นกัน เมื่อพระสงฆ์ไทยบางรูปไปจาริกแสวงบุญ ประเทศศรีลังกานำพรรณไม้ชนิดนี้มาปลูกในประเทศไทยจึงเรียกกันว่าสาละลังกา แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด

                                                สาละ robusta            Shorea

                                     ต้นรังในอินเดีย                       พุทธเจ้า

                                    ชาวพุทธอย่าลืมเสีย                   ยกย่อง

                                    กราบต้นปืนใหญ่เศร้า                 เน่าแท้พุทธไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น