วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ธรรมะสะกิด...ชีวิตในบทเพลง


ธรรมะสะกิด...ชีวิตในบทเพลง

มนาโป 6244

            เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ได้เคยเป็นเศรษฐีในแผ่นกระดาษในข่าว สอ.มก. ที่มีอิสระทั้งความคิดและเสรีภาพจากจินตนาการ ด้วยการเสนอ “เพลงเศรษฐี ปลดหนี้สหกรณ์” ต่อเนื่องกันมาหลายฉบับ เพราะมีแรงบันดาลใจที่จะอนุรักษ์เนื้อเพลงซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเศรษฐีเช่นเพลง เศรษฐีน้ำตา เศรษฐีเงินถัง เรือล่มในหนอง และประชดประชันการปลดหนี้สหกรณ์ด้วยเพลงหนี้รัก หนี้เสน่หา ยามไร้ แต่ด้วยหนี้สินในชีวิตจริงยังมองไม่เห็นว่าจะต้องใช้อีกกี่เพลงจึงปลดหนี้สหกรณ์ สอ.มก. ได้ คงต้องรอเป็นเศรษฐีในวันรับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนก็พอใจ ณ วันนี้และต่อๆ ไปก็จะขอสะสมทุนเรือนหุ้นแห่งจิตสำนึกที่จะมีสติสัปชัญญะแห่งการ “ปลดหนี้ ด้วยการ “ปลงสติ” จาก “บทธรรม” ที่จะสรรมาเสนอคู่กับบทเพลงแห่งชีวิต เพื่อจะเป็นข้อคิดให้หลุดพ้นจากอจินไตย โดยจะนำธรรมะ ภาษิตธรรม เปรียบเทียบกับปรัชญาชีวิตให้สอดคล้องกับบทเพลง เช่น เพลงก่อนสิ้นแสงตะวัน กรรมเก่า ชีวิตเมื่อคิดไป กรรม หรือเพลงคน ซึ่งล้วนแต่มีคำร้องเป็น อกาลิโก

            “กวาดใบไม้-ได้ธรรมะ” ปรัชญาธรรมจากท่านปัญญานันทะ เจริญพรไว้ว่า ดอกไม้ดอกตูมเล็กๆ แล้วใหญ่ขึ้นแย้มบานสดสวยเต็มที่กลายเป็นผลและเมล็ด จากนั้นก็ร่วงหล่นลงโคนต้น ใบไม้เขียวอ่อน เขียวสด เขียวแก่ แล้วเหลืองเหี่ยว ก็ร่วงหล่นให้เรากวาดมาเป็นกองขยะ แล้วก็งอกเป็นต้นและผลิดอกออกใบ ออกผล วนเวียนวัฎจักรต่อไป
 
ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
เนื้อร้อง     สนิท ศ.                                                                              
ขับร้อง        จินตนา  สุขสถิต  (ก่อน พ.ศ.2505)

                คนเราทุกคนว่ายวนผลกรรมนำเนื่อง    ตกต่ำรุ่งเรือง เกี่ยวเนื่องแต่กรรมของตน ความดีค้ำจุนจากบุญกุศล    ความชั่วจากบาปทุกข์ทน เพราะตนนั้นก่อเวรไว้

            บางคนถือดีมั่งมีเพราะทำกรรมชั่ว นั่นบาปสาปตัว เกลือกกลั้วมัวเมาเขลาไป  บางคนละอาว่าเหตุไฉน ทำดีแต่จนเหลือใจ ไม่เห็นได้ดีเหมือนว่า

            *อย่าเพลินถือว่าเงินเป็นใหญ่ จิตใจเหนือสิ่งใดล้ำค่า เพราะความทุกข์ ความสุขใด เป็นที่ใจ ใช่ที่ตา อย่าพะวงหลงลืมตน

            ทำดีทุกทีต้องมีผลดีโดยทั่ว  ก่อกรรมทำชั่วได้ชั่วตอบแทนทุกคน คนดีรักดี โชคดีมีผล คนชั่ว ชั่วโฉดเฉาชน ไม่พ้นผลกรรมซ้ำเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น