วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

พระท่าน “บ่น” อะไรของท่าน


พระท่าน “บ่น” อะไรของท่าน

ว. โชติญาณ

          ทอดผ้าบังสุกุลจะเห็นทำกันเป็นประจำเพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ผู้ที่ตายไปแล้ว เห็นบ่อยตอนพระสวดศพเสร็จ หน้าศพก่อนจะเผาหรือเมื่อทำบุญให้คนตาย คนที่ตายไปแล้วจะได้รับส่วนบุญที่อุทิศไปให้หรือไม่นั้น ยังไม่แน่นักเพราะยังไม่เห็นมีใครกลับมาบอกเลยสักคน แต่ก็เป็น “ความเชื่อ” ที่เป็นประเพณีทำต่อๆ กันมาเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณผู้ที่ตายไป ผู้ที่ได้กระทำการนี้แล้วก็จะได้สบายใจขึ้น

          พอถวายผ้า วางบนสายโยง (ที่ต่อมาจากศพ) เสร็จ ที่จริงคนทอดก็ไปได้เลยเพราะไม่เกี่ยวแล้ว ที่นี้ก็เป็นหน้าที่ของพระที่จะเอาตาลปัดบังหน้า ส่วนอีกมือก็จับผ้าที่ทอดแล้วก็ “บ่น” พึมพำว่า :-

          อนิจจา วะตะสังขารา        แปลว่า             สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

          อุปปาทะวะยะธัมมิโน         แปลว่า             เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา

          อุปปัชชิตฺวา นิรุชฌันติ        แปลว่า             เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

          เตสังวูปะสะโมสุโข           แปลว่า             หากสงบระงับสังขารทั้งหลายได้ก็จะเป็นสุขอย่างยิ่ง

          พระท่าน “บ่น” ทำไม? บ่นให้ใครฟัง? ฟังแล้วได้อะไร? ไม่ใช่บ่นเขาเรียกว่า “พิจารณา” ผ้าบังสุกุล สรุปแล้วเราควรจะได้ประโยชน์จากพิธีกรรมนี้บ้าง:-

          j เพื่อพระท่านผู้พิจารณาจะได้ “ปลง” สลด สังเวชในความตายโดยคิด-พิจารณาจากบทสวดที่ท่านท่องบ่น แล้วคิดว่าท่านปลงไม๊ว่า สังขารหรือการปรุงแต่งมันเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป หากสงบระงับไม่ได้ก็จะทุกข์

          k ถ้าคนฟัง ฟังรู้เรื่อง และเข้าใจในความหมายก็จะได้ปลงหรือพิจารณาในสัจธรรมนี้ด้วย นั่นแหละคือสารประโยชน์ที่ควรจะได้รับแน่ๆ จากการทอดผ้าบังสุกุล ควรจะทำใจให้ได้และท่องพิจารณาเวลาทุกข์

          แล้วที่ทำๆ กันทุกวันนี้มันได้อะไรขึ้นมา นอกจากเพียงแค่ได้ทำแล้วไงตามประเพณี ได้ความสมหน้า-ตา ได้ตอบแทนคุณผู้มีพระคุณ ตอนที่ท่านตายไปแล้ว และได้แลกกันไปงาน และมักจะมีแถมได้มีนักการเมืองมาร่วมเสนอหน้าหาเสียงด้วย สังคมนะสังคม รักษากันแต่หน้า ผิวภายนอก แก่นแท้ที่ควรจะได้คืออะไรมีแต่จะหมดไปและหมดไป

หมายเหตุ  สังขาร มันแปลว่าอะไรหรือ หมายถึงอะไรกันแน่นะ

สังขาร  คือ ร่างกายและจิตใจ และรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น

สังขาร ที่พิจารณากัน ณ ที่นี้คงอยากจะให้หมายถึง ศพ หรือร่างกาย แต่เมื่อพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้วในบทสวดนี้ น่าจะหมายถึง สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตามได้แก่ ขันธ์ 5 ทั้งหมดตรงกับคำว่า “สังขตะ” หรือสังขตธรรม (มิใช่ศพ) จึงไม่ควรนำมาใช้พิจารณาศพ (สวนโมกข์ท่านว่าอย่างนั้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น