วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จะให้เด็กไทย กระหายการเรียนรู้ ได้อย่างไร


จะให้เด็กไทย กระหายการเรียนรู้ ได้อย่างไร
          ตามตำราจิตวิทยาถือว่า ช่วงวัย 3-5 ปีเป็นช่วงที่เด็กมีจินตนาการสูง มีความอยากรู้อยากเห็น สมองจะกระหายการเรียนรู้ในอัตราที่พุ่งแรง สามารถจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปยาวนานทีเดียว แม้ว่าความสนใจอาจจะสั้นไปนิด และการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุและผลจะยังไม่ดีนักก็ตาม แต่เมื่อโตขึ้นเข้าสู่วัย 6-11 ปี จินตนาการของเด็กจะแปรเปลี่ยนไปสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้น ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดได้ดีขึ้น ชอบสำรวจค้นคว้าและทดลอง มีสมาธิและความสนใจนานกว่าช่วงวัย 3-5 ปี

          และถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากจะ “ตีเหล็กเมื่อร้อน” ก็ควรเสริมและสานต่อการเรียนรู้ให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก ในช่วงวัยต้น ควรส่งเสริมจินตนาการที่บรรเจิดของเด็ก ใช้การเล่นและชวนพูดคุยเพื่อเป็นประตูสู่การเรียนรู้ พ่อแม่ที่ช่างถามช่างชี้ชวนให้ลูกคุย จะทำให้เด็กมีพัฒนาการในการใช้คำพูดได้ดีกว่าเด็กวัยเดียวกัน แต่สิ่งที่ควรระวังคือเวลาที่เด็กพูด อย่าหงุดหงิดกับคำพูดของเด็ก ผู้ใหญ่บางคนทนไม่ได้เมื่อรู้สึกว่าเด็ก “ต่อปากต่อคำ” หรือใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกเสียหน้า หรือมองว่าเป็นการลามปาม แต่ถ้าเห็นเป็นเรื่องขำขันเสีย เด็กก็จะไม่รู้สึก “ฝ่อ” ที่จะแสดงความคิดของเขาออกมา คุณแม่คนหนึ่งเล่าถึงลูกสาวตัวน้อยว่า มีคนพูดแหย่ว่า “หนูมากับพี่สาวใช่ไหม” ปรากฏว่าลูกสาวสวนออกไปทันควันว่า “น้ามองยังไง ออกแก่อย่างนี้ไม่ใช่พี่สาวหรอก เป็นแม่หนูต่างหาก” ดีที่คุณแม่เห็นเป็นเรื่องขบขัน และคนที่หัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งก็คือคุณพ่อนั่นเอง

          เคยดูรายการสัมภาษณ์คุณภรณ์ทิพย์ หรือพี่ปุ๋ยคนสวยของเรา ตอนที่เธอพาครอบครัวมาเยือนเมืองไทย จะเห็นได้ชัดว่าเธอถามคำถามลูกชายมากมาย กระตุ้นให้เขาตอบด้วยท่าทีสนุกสนาน ไม่กดดัน ไม่คาดหวังว่าเขาจะต้องตอบแบบฉลาด หรือดูดี เด็กอาจตอบด้วยความเคอะเขินหรือไม่อยากตอบ หรือโต้แย้ง สิ่งดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญมากกว่าคือให้เด็กได้ฟัง ได้คิด ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนและสิ่งรอบตัว

          การชวนเด็กพูดคุยก็ต้องมีเทคนิคและทักษะกันพอสมควร ไม่ใช่พูดแบบสั่งสอนตลอดเวลา หรือชวนคุยแต่เรื่องความรู้วิชาการ ถ้าเป็นวิชาการก็ต้องมีลีลาที่ทำให้เด็กสนุกตื่นตาตื่นใจ ท้าทายให้อยากรู้ เพื่อนผู้เขียนเคยเล่าถึงคุณแม่คนหนึ่งที่สอนลูกตัวเล็กๆ ว่า สิ่งที่ลูกทานมีแต่คาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล ลูกควรจะทานโปรตีน ทานผักซึ่งมีวิตามินและเกลือแร่สูง เด็กนั่งฟังตาแป๋ว ไม่ทราบว่าจะรู้เรื่องมากน้อยแค่ไหน เคยเห็นคุณแม่ที่วาดรูปเก่งๆ วาดรูปการ์ตูนและเล่าเป็นนิทานให้ลูกฟัง ถ้าจะสอนเรื่องโภชนาการให้กับเด็กๆ ก็ผูกเป็นนิทานได้ จะเป็นเจ้าหญิงแครอท เจ้าชายกะหล่ำปลี พากันผจญภัยในป่าใหญ่ก็ได้ แล้วแทรกประโยชน์ของผักเข้าไป รับรองว่าเด็กจดจำได้แน่นอน อาจเปลี่ยนทัศนคติให้เด็กอยากทานผักมากขึ้นด้วยซ้ำ

          นอกจากเรื่องการพูดคุยแล้ว การเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ทำไมคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่มักพาลูกไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งๆ ที่ลูกยังแบเบาะ ข้อดีคือเด็กได้รับการกระตุ้นจากสิ่งรอบตัวโดยเฉพาะด้วยการเห็น ได้ยิน การสัมผัส (พ่อแม่อุ้มลูกไว้แนบตัวจะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มั่นคง) การมีปฏิกิริยาตอบโต้ของประสาทสัมผัสระบบต่างๆ จะช่วยส่งเสริมความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของเด็ก เมื่อเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ประสาทจะตื่นตัวและเตรียมพร้อม ทำให้ไวต่อการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงได้ดี สัญชาตญาณจะคมจับสัญญาณรอบๆ ตัวได้ดีขึ้น เป็นพื้นฐานของการสั่งสมทักษะในการเอาชีวิตรอด (survival)

          วิธีกระตุ้นให้เด็กๆ กระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เข้าหลอกล่อ เช่น กระตุ้นให้อยากรู้ คุณอาจชวนเล่นเกมอะไรเอ่ย หยอดคำถามชวนคิด “ทำไมปลาตายจึงหงายท้อง” ท้าทายให้ค้นหา เล่นเกมนักสืบดีไหม เกมทายยี่สิบคำถาม ตอบปัญหาจากการสัมผัส สนุกกับการทดลอง ถ้าอยากได้คำตอบก็ต้องลงมือทำ ความสุขจากการค้นพบด้วยตัวเองจะเป็นแรงเสริมที่ทรงอิทธิพล และจะถูกปลูกฝังอยู่ในตัวเด็กไปจนโต ฝึกให้ตั้งคำถาม เด็กช่างถามคือเด็กช่างสงสัย และเด็กช่างสงสัยจะแสวงหาคำตอบ เท่ากับได้ฝึกคิดและพัฒนาสมองนั่นเอง และสนับสนุนให้รักการอ่าน ให้อ่านด้วยความสนุกก่อน แล้วเด็กจะติดการอ่าน ให้เด็กๆ รู้สึกว่าหนังสือคือเพื่อนแก้เหงา ช่วงเวลาอ่านหนังสือคือช่วงที่ผ่อนคลายมีความสุข เด็กที่รักการอ่านจะมีมุมมองกว้างไกล เพราะการอ่านจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเด็กๆ ได้อย่างดี

          แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะลับคมสมองด้วยการกระตุ้นให้ลูกหลานของคุณกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วหรือยัง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ : กายใจ ฉบับที่ 92 วันที่ 4-10 มีนาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น