วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กฎหมายกับ…..ความรัก


กฎหมายกับ…..ความรัก
เนติธรรม 12883

          หลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า กฎหมายกับความรักเกี่ยวข้องกันอย่างไร คงเป็นประเด็นที่อยากรู้ แต่บางครั้งไม่รู้จะปรึกษาใคร จะเริ่มต้นที่ตรงไหน วันนี้ ลองมาดูกันคร่าวๆ ว่า ตรงกับคำถามที่เกิดขึ้นในใจของท่านหรือไม่

การสมรสที่ไม่มีการจดทะเบียนกันตามกฎหมายในปัจจุบัน

            การสมรสที่ไม่มีการจดทะเบียนกันตามกฎหมายในปัจจุบัน ถ้าการสมรสนั้นไม่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว แม้จะมีการจัดการแต่งงานใหญ่โตเพียงไร กฎหมายก็ไม่รับรู้ด้วย จึงไม่เกิดผลใด ตามกฎหมาย

ถ้าชายหญิงนั้นอยู่กินกันเองจะมีผลดังนี้

         1. ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงคู่นั้น กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ใดๆ ต่อกัน และยังเกิดผลประการอื่นอีก คือ

           -     เรื่องการใช้นามสกุล หญิงก็คงใช้นามสกุลเดิมของตน และเรื่องสถานะตามกฎหมายก็ยังคงถือว่า หญิงนั้นเป็นนางสาวอยู่ (คือสถานภาพโสดนั่นเอง)
           -     
เรื่องความผิดอาญา การที่ชายหญิงหลับนอนด้วยกัน กรณีนี้ถ้าหญิงยินยอมกัน ก็ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืน แต่ถ้าหญิงไม่ยินยอมแล้วชายใช้กำลังบังคับก็มีความผิดฐานข่มขืน ส่วนความผิดอื่นที่กระทำต่อกัน เช่น ชายลักทรัพย์ของหญิง ก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมาย

            2. 
ในเรื่องทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินของใครมีอยู่ก่อนเป็นเป็นของคนนั้น แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นของที่หามาได้ร่วมกัน แม้กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสมรส แต่ก็ถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของทั้ง คนร่วมกัน คือเป็นกรรมสิทธิ์รวม ทั้งคู่ต่างมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละเท่าๆ กัน

            3. ผลเกี่ยวกับบุตรที่เกิดมา เมื่อกฎหมายไม่ถือว่ามีการสมรสเกิดขึ้น เด็กที่เกิดมาในส่วนของหญิง ย่อมถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนอยู่ แต่ในด้านชายนั้น กฎหมายถือว่า ชายนั้นมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กคนนั้น แต่ยังมีวิธีการที่จะทำให้เด็กที่เกิดมากลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้นั้นได้ มี วิธีคือ

                  3.1 เมื่อบิดามารดาของเด็กนั้นสมรสกันภายหลังโดยชอบด้วยกฎหมาย คือจดทะเบียนสมรสกัน และทำตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเด็กนั้นจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นทันที นับแต่วันที่บิดามารดาทำการสมรสกัน

                  3.2 โดยการจดทะเบียนรับเด็กนั้นเป็นบุตร แต่ตัวเด็กนั้นหรือมารดาเด็กต้อง ไม่คัดค้านว่าชายผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาถ้ามีการคัดค้านก็ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ขั้นตอนการจดทะเบียนก็คือ ชายจะไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนที่อำเภอ และนายทะเบียนจะแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดาเด็กว่าจะคัดค้านหรือไม่ ถ้าหากคัดค้าน ต้องคัดค้านภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่การแจ้งความนั้นไปถึง ถ้าไม่มีการคัดค้านนายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ แต่ถ้ามีการคัดค้าน นายทะเบียนก็จะยังไม่รับจดทะเบียน และชายนั้นก็ต้องดำเนินคดีทางศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าศาลตัดสินให้จดทะเบียนได้ ชายต้องนำ คำพิพากษามาแสดงต่อนายทะเบียน นายทะเบียนก็จะจดทะเบียนให้ เมื่อมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแล้ว แม้ชายนั้นจะมิได้ทำการสมรสกับหญิงก็ตาม ให้ถือว่าชายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น และมีสิทธิหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย

                  3.3 โดยการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร กรณีนี้ ตัวเด็ก หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องชาย เพื่อให้ศาล
พิพากษาชายนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต้องมีพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะฟ้องศาลได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย

                        (1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยว กักขังหญิงผู้เป็นแม่ของเด็กโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในช่วงเวลาที่หญิงนั้นอาจจะตั้งครรภ์ได้
                        (2)
เมื่อมีการลักพาหญิงผู้เป็นแม่ของเด็กไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวง ร่วมหลับนอนกับผู้หญิงผู้เป็นแม่เด็ก

ในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

                        (3)
เมื่อมีเอกสารของพ่อแสดงว่า เด็กนั้นเป็นลูกของตน เช่น พ่อยื่นคำร้องแจ้งเด็กเกิดในทะเบียนบ้าน โดยแจ้งว่า

เป็นบุตรของตน หรืออาจเป็นกรณีลงชื่อฝากเด็กเข้าโรงเรียน โดยระบุว่าเป็นบุตรของตนก็ได้

                        (4)  เมื่อปรากฎในทะเบียนคนเกิดว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของชาย โดยชายเป็นผู้ไปแจ้งการเกิดเองหรือการ
จดทะเบียนนั้น ได้กระทำโดยรู้เห็นยินยอมของชาย

                        (5) เมื่อพ่อแม่ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้

                        (6)  เมื่อชายได้มีการหลับนอนกับหญิงผู้เป็นแม่ในระยะเวลาที่อาจตั้งครรภ์ ได้และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า
เด็กนั้นเป็นบุตรของชายอื่น

                        (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นลูก ซึ่งต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ไป เช่น ชายนั้นให้ความอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้นามสกุลของตน เป็นต้น เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเพียงประการเดียว ก็สามารถฟ้องคดีได้แล้ว
แต่การฟ้องคดีต้องฟ้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายคือ ถ้าเด็กบรรลุนิติภาวะแล้วต้อง ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) แต่ถ้าเด็กตายในระหว่างที่ยังมีสิทธิฟ้องคดีอยู่ ก็ให้ผู้สืบสันดานของเด็กฟ้องแทน ถ้าผู้สืบสันดานของเด็ก รู้ข้อเท็จจริงที่จะ ฟ้องคดีได้ก่อนวันที่เด็กตาย ก็ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เด็กตาย แต่ถ้ามารู้หลังจากที่เด็กตายแล้ว ก็ต้องฟ้องภายใน ปีนับแต่วันที่รู้ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ผู้ที่มีอำนาจฟ้อง คือ ในกรณีที่เด็กอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เด็กสามารถฟ้องคดีได้เอง แต่ถ้าเด็กยังอายุไม่ถึง 15 ปี ก็สามารถให้ผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องแทนได้ และผลของการฟ้องคดีนี้ ถ้าฝ่ายเด็กเป็นผู้ชนะคดี เด็กนั้นก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายนับตั้ง แต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น