วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“การพัฒนา สอ.มก. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกอย่างยั่งยืน” วนิดา ศรีทองคำ

การพัฒนา สอ.มก. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกอย่างยั่งยืน

วนิดา ศรีทองคำ (7293)[1]

            “กู้เงินสหกรณ์ไม่เคยขาด จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร” เพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งได้ปรารภขึ้นมาเมื่อเห็นประกาศเชิญชวนประกวดบทความ เรื่อง การพัฒนา สอ.มก. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกอย่างยั่งยืน ก่อนจะตอบคำถามเพื่อนสมาชิกคงต้องย้อนกลับไปดูผลการดำเนินงานของ สอ.มก. ที่ผ่านมาในหนังสือ 50 ปี สอ.มก. ศาสตราจารย์อาบ นคะจัด นักสหกรณ์แห่งชาติ สาขาวิชาสหกรณ์ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนี้ “ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ข้าราชการชั้นผู้น้อยและลูกจ้างประจำของชุมชน มก. ได้อาศัยการเป็นหนี้เพิ่มทรัพย์จากสถาบันการเงินของพวกเขา คือ สอ.มก. เราจึงมีมูลค่าเพิ่มของชีวิต คือ มีบ้านและที่ดิน มีที่อยู่อาศัยในห้องชุด มีลูกหลานที่สำเร็จการศึกษา  ปวช.  ปวส. หรือปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งมีอาชีพเป็นหลักฐานจำนวนมาก”  นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการกำกับสมาชิกให้เป็นหนี้สหกรณ์แบบ “หนี้เพิ่มทรัพย์”  แทนการเป็น “หนี้เพิ่มหนี้” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักสหกรณ์แห่งชาติได้ให้ข้อคิดไว้พร้อมยกกรณีตัวอย่างที่ประจักษ์ให้เรียนรู้ ดังนั้น แม้ในระยะที่ผ่านมา สอ.มก. จะได้ดำเนินงานทั้งในด้านการให้สมาชิกมีหุ้นและเงินฝากเพิ่มขึ้น การให้ได้รับสินเชื่อที่สะดวกและรวดเร็ว การให้สมาชิกได้รับสวัสดิการและความรอบรู้ทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่สมาชิกแล้วนั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่ามีปัจจัยหลายปัจจัยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับคุณภาพชีวิต เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง ภาวะโลกร้อน ภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร เป็นต้น สอ.มก. จะพัฒนาการดำเนินงาน กิจกรรม โครงการ อย่างไรเพื่อให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

            คุณภาพชีวิตของคนเรามีอะไรบ้าง จากการศึกษาพบว่ามีการจำแนกมิติคุณภาพชีวิตของคนไทยออกเป็น 13 ด้าน ได้แก่ ครอบครัว การงาน สังคม การพักผ่อน สุขภาพ สาธารณสุข สินค้าบริการ ความเชื่อทางศาสนา ทรัพย์สิน ตนเอง ท้องถิ่น รัฐบาล และประเทศ แต่มีมิติที่คนให้ความสนใจเป็นพิเศษอยู่ 4 มิติได้แก่ ด้านครอบครัว ด้านการงาน ด้านสุขภาพและความเครียด และด้านสิ่งแวดล้อม (สุพรรณี ไชยอำพร และ สนิท สมัครการ, 2534)

            คุณภาพชีวิตด้านครอบครัว ได้แก่ การที่คนมีความพึงพอใจในความผูกพัน การช่วยเหลือและความรับผิดชอบระหว่างสมาชิกในครอบครัวทั้งในด้านจิตใจ และวัตถุ เช่น การมีบ้านเป็นของตนเองทั้งตัวบ้านและสถาพที่ตั้งก็จะทำให้เจ้าของมีความสุข การเป็นเจ้าของยานพาหนะ การเป็นเจ้าของอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์เพื่อให้ความบันเทิง อุปกรณ์เพื่อให้ความสะดวกภายในบ้าน อุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์

            คุณภาพชีวิตด้านการงาน การที่คนมีความพึงพอใจในงาน/อาชีพในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง มีความก้าวหน้าของานที่ทำ มีความพอใจในรายได้ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

            คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความเครียด คนต้องมีภาวะสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตที่ดี ให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ส่งเสริมทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา นำหลักปฏิบัติทางศาสนามาใช้ในการดำรงชีวิต ได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ การไปทัศนาจรต่างจังหวัดและต่างประเทศ

            คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีไม่ให้มีความรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณที่อยู่อาศัยและในการดำเนินชีวิตประจำวัน สงวน บำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ กำจัดมลภาวะที่เป็นพิษต่างๆ

การพัฒนา สอ.มก. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกอย่างยั่งยืน

          สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด (สอ.มก.) เป็นองค์กรธุรกิจหนึ่งที่จัดตั้งโดยมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากสถาบันการเงินอื่น คือไม่เสียภาษี และดำเนินงานโดยบุคลากรสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยความสมัครใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยสมาชิกทุกคนมีรายได้ประจำ การดำเนินงานเมื่อหักค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรดำเนินงาน จะเหลือเป็นกำไรสุทธิ ซึ่งนำไปจัดสรรประโยชน์แก่สมาชิก และขบวนการตามหลักการสหกรณ์ เช่น จัดสรรเป็นทุนสำรอง ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์ เงินปันผลเฉลี่ยคืน ทุนสะสมตามข้อบังคับ และอื่นๆ แนวทางที่ควรพัฒนา สอ.มก. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกอย่างยั่งยืน มีดังนี้

            1.    การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านครอบครัว การสร้างความมั่นคงทางการเงินแก่สมาชิกเป็นสิ่งสำคัญต่อคุณภาพชีวิตด้านครอบครัว รายได้ที่เหลือจากการหักหุ้นเงินฝาก จะต้องมีเพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นปัจจุบัน สหกรณ์ควรพัฒนาดังนี้

               1.1  สอ.มก. ควรเพิ่มจำนวนเงินจัดสรรให้เปล่าหรือเงินสาธารณประโยชน์เพื่อการศึกษาทั่วไปเพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกให้สูงขึ้นให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งประเภททุนเรียนดี และทุนการศึกษาช่วยเหลือสมาชิกที่มีบุตรกำลังศึกษาในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้เพิ่มค่าบำรุงการศึกษาสูงขึ้นแต่ละชั้นปี อันเป็นผลกระทบมาจากนโยบายรัฐเรียนฟรี 15 ปี

                  1.2  สอ.มก. ควรส่งเสริม สนับสนุนการออม โดยจัดสรรกำไรร้อยละ 1-2 นอกเหนือจากการปันผลเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกที่มีหนี้สินมากกว่าหุ้น ให้ได้ซื้อสลากออมสินมาถือครอง สมาชิกกลุ่มดังกล่าวจะได้ออมเงินเพิ่มและอาจถูกรางวัล ซึ่งเท่ากับว่าสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สมาชิกมีการออม เพื่อความมั่นคงในอนาคตด้วย

                  1.3  สอ.มก. ควรส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มจากอาชีพเสริม เช่น จัดทำโครงการกองทุนสงเคราะห์เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และจัดทำโครงการอบรมให้ความรู้การทำอาชีพเสริม ทั้งนี้สหกรณ์ควรประสานขอรับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเรื่องการตลาดให้แก่สมาชิกในการจำหน่าย เช่น พื้นที่จำหน่ายหลังจากเลิกงาน หรือในวันหยุดราชการ โดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ เพื่อให้โอกาสสมาชิกได้ช่วยเหลืออุดหนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สมาชิกผลิตเพื่อเป็นรายได้เสริม

                  1.4  สอ.มก. ควรจัดตั้งโครงการฟื้นฟูสภาพหนี้ เช่น ช่วยเหลือหนี้ของสมาชิกที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จากการผ่อนจักรยานยนต์ รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ เป็นต้น โดยสมาชิกที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูสภาพหนี้ต้องเข้ารับการอบรมการสร้างวินัยทางการเงิน ได้รับคำแนะนำในการทำบัญชีครัวเรือนจากสหกรณ์

                  1.5  สอ.มก. ควรจัดตั้งหน่วยให้คำปรึกษาการฟื้นฟูสภาพหนี้ นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่มีอยู่

            2.  การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการทำงาน

              2.1  สอ.มก. ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน เช่น จัดสรรเงินเพื่ออบรมภาษาอังกฤษ หรือจัดสรรเงินเพื่อการจัดทำผลงานวิชาการแก่สมาชิกทุกคนๆ ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มพูนคุณวุฒิและเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่จำเป็นและเหมาะสมกับหน่วยงาน และทำให้การทำงานของตนเองก้าวหน้าขึ้น มีความมั่นคง และมีรายได้เพิ่มขึ้น

                  2.2  สอ.มก. ควรจัดทำโครงการสานสัมพันธ์สมาชิกสหกรณ์ โดยให้การศึกษาอบรมสมาชิกให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานของ สอ.มก. เพื่อให้สมาชิกปฏิบัติตามหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลให้บรรยากาศในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และให้การสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามที่คณะกรรมการดำเนินงานเสนอข้อเห็นชอบต่อที่ประชุมใหญ่มากกว่าเดินทางเข้าร่วมประชุมโดยมีรางวัลเป็นเครื่องจูงใจ

            3.  การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความเครียด

              3.1  แม้ปัจจุบัน สอ.มก. จะได้ดำเนินโครงการหลากหลายโครงการที่มุ่งให้สมาชิกได้เพลิดเพลินและลดความเครียด เช่น โครงการธรรมสัญจร แต่ยังมีสมาชิกสหกรณ์อีกหลายคนไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากความแตกต่างในการนับถือศาสนา ดังนั้นควรเพิ่มโครงการที่ตอบสนองสมาชิกที่หลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น เช่น จัดสรรเงินสำหรับสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ โดยสมาชิกสหกรณ์ทุกคนสามารถขอรับการเงินสนับสนุนเพื่อเข้าร่วมกับกิจกรรมทางศาสนาของแต่ละคน โดยอาจกำหนดตามอัตราเดียวกับเงินของขวัญวันเกิด

                  3.2  สอ.มก. ควรจัดทำกิจกรรมสันทนาการ เช่น จัดทำโครงการทัศนศึกษาในต่างประเทศ และในประเทศ โดยอาจเดินทางไปทัศนศึกษาร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อให้ได้รับความรู้ในการดำเนินการสหกรณ์ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ สอ.มก. ควรจัดสรรเงินสนับสนุนให้กับสมาชิกที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

                  3.3  สอ.มก. ควรจัดทำโครงการส่งเสริมด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากโครงการสุขภาพกาย-สุขภาพจิต ที่เน้นการบริหารร่างกาย เช่น โครงการอบรมให้ความรู้การบริโภคในปัจจุบันเพื่อให้สมาชิกรู้เท่าทัน และระมัดระวังการบริโภคอาหารแต่ละประเภท เพื่อลดการเจ็บป่วยที่มาจากการบริโภค

                  3.4  สอ.มก. ควรจัดสวัสดิการแบบให้สมาชิกเป็นผู้จ่ายเงินเพื่อจัดสวัสดิการของตน เช่นให้สมาชิกสมทบเงินของตนเองในโครงการประกันสุขภาพของสมาชิกและคนในครอบครัว จากบริษัทประกันภัยโดย สอ.มก. อำนวยความสะดวกให้เพื่อให้สมาชิกได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้น เป็นต้น

            4.  การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม

              สอ.มก. ควรจัดทำโครงการสหกรณ์รู้รักษ์พลังงานและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยจัดประกวดสมาชิกที่หาวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประหยัดพลังงานในครอบครัว โดยเล่าประกอบภาพถ่ายให้ประจักษ์ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ประกวดจะได้รับเงินสนับสนุน เช่น เงินสนับสนุนการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าในบ้านใหม่เป็นหลอดประหยัดไฟ ที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง เป็นต้น

            สรุป การพัฒนา สอ.มก. เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกอย่างยั่งยืน ควรมีประเด็นการพัฒนาและตัวบ่งชี้ ดังนี้

















มติการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต

ดัชนีบ่งชี้

คุณภาพชีวิตด้านครอบครัว

จัดสรรกำไรร้อยละ 1-2 สนับสนุนการซื้อสลากออมสิน

จัดตั้งกองทุนสงเคราะห์การซื้อปัจจัยการผลิต

โครงการอบรมอาชีพเสริม

โครงการฟื้นฟูสภาพหนี้

จัดตั้งหน่วยให้คำปรึกษาการฟื้นฟูสภาพหนี้

คุณภาพชีวิตด้านการทำงาน

จัดตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงาน

โครงการสานสัมพันธ์สมาชิกสหกรณ์

คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความเครียด

ให้เงินทุนสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ

ให้เงินสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวสันทนาการ

โครงการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพ

สมาชิกสมทบเงินของตนเองในโครงการประกันสุขภาพ

คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม

โครงการประกวดสหกรณ์รู้รักษ์พลังงาน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ให้เงินอุดหนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า

                         ก่อนดำเนินกิจกรรม/โครงการใดๆ ควรดำเนินการสอบถามไปยังสมาชิก การได้ข้อคิดเห็นจากสมาชิกยังคงเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน แม้ว่าจะมีการเลือกผู้แทนสหกรณ์เข้าไปทำงานแล้วก็ตาม การพัฒนากิจกรรม และโครงการของ สอ.มก. ที่สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริง สมาชิกจะได้มีความกินดี อยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน
.................
เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2552). 50 ปี สอ.มก. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุพรรณี ไชยอำภร และสนิท สมัครการ. (2534). รายงานการวิจัยเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทย : ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างชาวเมืองกับชาวชนบท กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์



[1] ผู้ส่งบทความเข้าประกวด ได้รับรางวัลที่ 3 หุ้น สอ.มก. 3,000 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น