วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน


เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

โดย... ผศ.ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา (6390)

 

เกริ่นกันก่อน

            ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองของไทยกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง และไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แน่นอน (นายกอาจเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ก็ไม่ว่ากัน) ห้วงจังหวะนี้คนในวงการสหกรณ์ต้องถือเป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอความเห็นต่อผู้มีโอกาสบริหารประเทศในอนาคต วิธีการที่จะได้ข้อเสนอที่ดีก็คือต้องสมมุติตัวเองว่าถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเราจะกำหนดนโยบายและใช้ประโยชน์จากสหกรณ์อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักของบทความนี้

 

สถานการณ์และกรอบนโยบายที่ควรเป็น

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และได้รับการตอบรับจากนานาชาติเป็นอย่างดี ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในระยะหลังๆ ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม โดยพยายามผลักดันให้บูรณาการกระบวนการผลิตบนฐานศักยภาพ และความเข้มแข็งของชุมชนอย่างสมดุล เน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียงภายในชุมชน และ สนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ ....” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย .. 2550 มาตรา 84 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านเศรษฐกิจ  ดังต่อไปนี้ซึ่งใน (9) ระบุว่ารัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์  ให้เป็นอิสระ และการร่วมกลุ่มการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ตลอดจนการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อดำเนินกิจการด้านเศรษฐกิจ

            เมื่อมาพิจารณาถึงภาพรวมของขบวนการสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยได้นำเอาระบบสหกรณ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ ..2459 โดยมุ่งหวังให้เป็นองค์กรของประชาชนในการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันมีสหกรณ์จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ จำแนกได้ 7 ประเภท คือ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์บริการ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์รายงานว่า ในปี 2555 มีสหกรณ์ทั้งสิ้น 7903 สหกรณ์ มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท มีสมาชิกมากกว่า 10 ล้านคน และมีผู้ทำงานในขบวนการ (กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์) มากกว่า 100,000 คน จึงอาจกล่าวได้ว่าสหกรณ์เป็นขบวนการที่มีศักยภาพที่จะช่วยสนับสนุนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงและช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในสังคมไทย

            สำหรับกรอบที่ควรบรรจุเป็นนโยบายรัฐด้านสหกรณ์ คือส่งเสริมและพัฒนาขบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงและแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน รวมถึงผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและความเป็นอิสระของขบวนการสหกรณ์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

 

แนวทางดำเนินการเพื่อบรรลุตามกรอบนโยบาย

                1. ส่งเสริมและพัฒนาขบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง ขอเสนอแนวทางดังนี้

                        1.1 ส่งเสริมและขยายแนวคิดทางสหกรณ์สู่ประชาชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการอย่างจริงจังผ่านบ้าน (การปกครองส่วนท้องถิ่น) วัด (ศาสนาทุกศาสนา) และ โรงเรียน นอกเหนือจากที่ได้ดำเนินการผ่านระบบบริหารราชการส่วนกลาง และ ส่วนภูมิภาค

                        1.2 พัฒนาบุคลากรของขบวนการสหกรณ์ให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการและมีคุณธรรมในระดับสูง ซึ่งในระยะสั้นรัฐบาลควรร่วมมือกับขบวนการสหกรณ์ (ชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ และ สันนิบาตสหกรณ์) และ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและคุณธรรมของบุคลากรด้านสหกรณ์ และในระยะยาวเสนอให้จัดตั้งเป็นสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสหกรณ์ เป็นองค์กรภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.)

                        1.3 ผลักดันอย่างจริงจังให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างสหกรณ์ประเภทต่างๆ ในทุกระดับ

                        1.4 เพื่อให้ระบบการเงินภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและสมบูรณ์มากขึ้น รัฐควรผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินกลางของขบวนการสหกรณ์ ในสภาพความเป็นจริงในขบวนการสหกรณ์มีทั้งสหกรณ์ที่มีเงินเหลือและเงินขาด แต่ด้วยปัญหาบางประการทำให้การช่วยเหลือกันในขบวนการสหกรณ์ยังมีข้อจำกัด และการบริหารเงินในภาพรวมของทั้งระบบสหกรณ์มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นรัฐควรปรับปรุงการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ที่จัดตั้งขึ้นตาม ... สหกรณ์ .. 2542 ให้มีประสิทธิภาพและดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของขบวนการสหกรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                        1.5 สนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้ระบบ IT ในการดำเนินงานสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีเอกภาพ

                        1.6 ปรับโครงสร้างการบริหารการส่งเสริมสหกรณ์ของภาครัฐใหม่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อความเป็นอิสระของขบวนการสหกรณ์ ทั้งนี้ ในระยะยาวเสนอให้จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการสหกรณ์แห่งชาติ ขึ้น เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานส่งเสริมสหกรณ์โดยรวมเอา คพช.  สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กพส. และ สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสหกรณ์ (เสนอให้จัดตั้งในข้อ 1.2) เข้าด้วยกัน ทั้งนี้องค์การใหม่อาจตั้งขึ้นในรูปของ องค์การมหาชน     

                2. ใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงและแก้ไขปัญหาความยากจน

            เมื่อพิจารณาถึงหลักและวิธีการในการดำเนินงานของสหกรณ์แล้ว พบว่ามีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันมีสหกรณ์ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ รัฐบาลจึงสามารถใช้ขบวนการสหกรณ์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งผ่านความช่วยเหลือ (ด้านการเงิน การผลิต การตลาด และ อื่นๆ) ของภาครัฐสู่ประชาชนภายใต้หลักการแห่งการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของประชาชนในระยะยาว และสหกรณ์จะกลายเป็นสถาบันเศรษฐกิจฐานรากของสังคม อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพควรดำเนินการ ดังนี้

                        2.1 ด้านการจัดหาปัจจัยการผลิตและตลาดผลผลิต รัฐควรผลักดันอย่างจริงจังให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างขบวนการสหกรณ์และหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในด้านนี้ ที่สำคัญได้แก่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งการร่วมมือกันจะช่วยให้หน่วยงานทั้ง 2 สามารถใช้ศักยภาพของสหกรณ์ที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ให้ทำหน้าที่ในภาคสนามแทนตนเองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดและเอกภาพในการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องดังกล่าว

                        2.2 การแก้ไขหนี้สินที่เป็นปัญหาของเกษตรกร รัฐควรผลักดันให้มีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังและมีเอกภาพระหว่างกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กับขบวนการสหกรณ์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้วินัยทางทางการเงินของเกษตรกรเสียไป นอกจากนั้นรัฐควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจังแก่สหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกลุ่มผู้ใช้แรงาน

                        2.3 เพื่อสนับสนุนการทำงานของสหกรณ์นอกภาคการเกษตร รัฐควรผลักดันให้ ธกส. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์นอกภาคเกษตร เช่นเดียวกับที่ให้แก่สหกรณ์ในภาคการเกษตรด้วย

            3. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสร้างพิมพ์เขียวของขบวนการสหกรณ์ เพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ มีความยั่งยืน ควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ โดยเฉพาะ ... สหกรณ์ .. 2542 ให้สอดคล้องกับข้อเสนอข้างต้น และ สอดคล้องกับความต้องการของขบวนการสหกรณ์ รวมถึงผลักดันให้มีจัดทำพิมพ์เขียวโครงสร้างของขบวนการสหกรณ์ใหม่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต

 

ส่งท้ายก่อนจาก

            ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากการสมมุติตัวเองว่าถ้าเป็นผู้บริหารประเทศแล้วจะมีแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์และใช้สหกรณ์อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน ไม่แน่นะครับว่าบางส่วนของข้อคิดเห็นเหล่านี้อาจได้รับการนำไปปรับใช้จริงๆ ก็ได้ ... สวัสดีครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. "สุดหยาดจะบรรยาย"...ไม่พ้นถูกทาบทามจากใครบางคนก็หนนี้แหละครับ.

    ตอบลบ