วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

ประชาธิปไตยในสหกรณ์จะต้องปฏิรูปด้วยไหม?


ประชาธิปไตยในสหกรณ์จะต้องปฏิรูปด้วยไหม?

หลักการสำคัญของระบบสหกรณ์อย่างหนึ่งคือ ประชาธิปไตย ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนใน ... สหกรณ์และข้อบังคับของสหกรณ์ไว้อย่างชัดเจนด้วย

·        ให้สมาชิกทุกคนมีสิทธิเท่ากันคนละ 1 เสียง

·        การพิจารณาตัดสินใดๆ ให้ใช้การประชุมและลงคะแนนเสียงกันและให้เสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ  หรือ อาจจะต้องชนะด้วยคะแนน 2/3 ใบบางเรื่อง

·        ต้องมีการเลือกผู้แทน ผู้ตรวจสอบกิจการ หรือคณะกรรมการดำเนินการและประธานกรรมการโดยสมาชิกเพื่อบริหารจัดการสหกรณ์

สิ่งต่างๆเหล่านี้จะมีกำหนดในกฎหมายสหกรณ์และแต่ละสหกรณ์ก็จะมากำหนดเป็นข้อบังคับให้ละเอียดยิ่งขึ้นและเหมาะสมกับในแต่ละสหกรณ์ และอาจจะมีระเบียบปลีกย่อยในวิธีปฏิบัติเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้

สหกรณ์เป็นการรวมคนที่มีหลักการอุดมการณ์เดียวกันเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันจึงต้องใช้หลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัดอย่างเต็มใบ แม้สหกรณ์ออมทรัพย์จะเป็นธุรกิจการเงินแต่ก็ยังถือว่าผู้ที่มีหุ้นน้อยหรือมากก็จะต้องมีสิทธิ์เท่ากัน คือ 1 เสียงเท่านั้น

คณะผู้บริหารสหกรณ์ที่เรียกว่า คณะกรรมการดำเนินการ นั้นต้องได้มาจากการคัดเลือกกลั่นกรองและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาจากสมาชิกเท่านั้นซึ่งจะมีวิธีการหลักการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์

คณะกรรมการดำเนินการจะเข้ามาบริหารจัดการโดยใช้การประชุมกันเป็นสิ่งสำคัญเพื่ออนุมัติและตัดสินปัญหาต่างๆ เว้นไว้แต่เฉพาะบางอย่างเท่านั้นที่ได้มอบให้ประธานหรือรองประธาน รักษาการฯ อนุมัติไปก่อนได้ เพื่อความรวดเร็วแล้วแจ้งที่ประชุมทราบภายหลังได้ หน้าที่หลักของกรรมการ คือ ประชุม การไม่มีเวลาประชุมก็ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ตามขอบเขตอำนาจ ในการพิจาณาตัดสินใจในการบริหารโดยทั่วไป คณะกรรมการดำเนินการก็จะทำได้ แต่ในบางปัญหาและบางเรื่องก็จะต้องใช้การตัดสินใจจากการประชุมใหญ่ของบรรดามวลสมาชิกเท่านั้น ซึ่งก็มีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือกฎหมายไว้เช่นกัน

13 ธันวาคม นี้  เราก็จะได้กรรมการจากการเลือกตั้งมา 7 ท่าน ซึ่งสมาชิกได้ใช้สิทธิเลือกอย่างเท่าเทียมกัน นี่แหละ คือ สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย (แต่ก็น่าเสียดายกับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ของตัวเองในการเลือกตั้ง) ซึ่งสมาชิกทุกท่านควรจะได้รักเคารพและหวงแหนในสิทธิ์อันพึงมีของตนเอง การเลือกตั้งกรรมการจะมีการเลือกกันทุกๆ ปี กรรมการแต่ละท่านจะมีวาระสองปี สมาชิกจึงมีสิทธิที่จะเลือกไว้ทุกปีที่ละ 7 คน (จากทั้งหมด 15 คน)และเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสองปีของกรรมการแต่ละคน และเมื่อครบสองวาระหรือ 4 ปีต้องพักการลงสมัครอย่างน้อย 1 ปี

การเลือกตั้งกรรมการของ สอ.มก. เราได้พัฒนาระบบการเลือกตั้งมาถึงจุดสุดยอดแล้วก็ว่าได้ คือ สมาชิกทุกคนมีสิทธิเลือกกรรมการได้ครบทุกคน  มีวิธีการลงคะแนนเสียงที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกลงคะแนนได้ทั้งก่อนล่วงหน้าและวันเลือกจริงก็ได้ อีกทั้งมีหน่วยเลือกตั้งการจายอย่างทั่วถึง ขึ้นอยู่กับว่าท่าจะมาเลือกหรือไม่เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังบ่นว่าก็ยังได้แต่คนหน้าเดิมๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็ปีละคนสองคนเท่านั้น แต่บางคนก็บอกว่านี่แหละเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด ผู้ทีมีความรู้ความสามารถเดิมส่วนใหญ่จะยังคงเป็นหลักในการบริหารให้มีความมั่นคงอยู่ได้ คนใหม่ที่จะเข้ามาได้ก็จะต้องมีแววจริงๆ จึงจะได้เข้ามาและคนเก่าบางคนก็มิใช่ว่าจะได้กลับมาเป็นอีกเสมอไปหรอก นี่เห็นๆกันอยู่

แต่บางคนก็ยังบ่นว่ากรรมการบางคนก็ไม่ใช่คนดีนักนะ อยากจะให้คนดีๆ จริงๆ ทั้งหมด คนดีจริงๆ ของท่านเป็นอย่างไร เป็นใครกันบ้างล่ะ และจะให้ใครเป็นคนเลือก จะหาเทวดามาเลือกให้ก็หายากนะ เพราเทวดาก็มีกิเลสอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน และบรรดาสมาชิกท่านจะยอมเสียสิทธิ์อันทรงเกียรติของท่านไปแล้วให้คนอื่น แม้จะดีก็ตาม มาชี้นิ้วเลือกแทนท่านหรือ ส่วนผมว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ ต้องพัฒนาทั้งคนเลือกและคนถูกเลือก  คือผู้เลือกก็ต้องพิจารณาในการเลือกให้ดีเท่าที่จะทำได้ ส่วนผู้สมัครเข้ามาให้เลือกก็ต้องพิจารณาตนเองว่ามีความสามารถเหมาะสมและเป็นที่ถูกใจ บรรดาผู้เลือกด้วยเช่นกันและมีความพร้อมที่จะเสียสละเข้ามาแสดงความสามารถด้วยความจริงใจ ส่วนสมาชิกจะเลือกหรือไม่เป็นสิทธิ์ของบรรดาสมาชิกเขา เขาเลือกให้เป็น เราก็เป็น เขาไม่เลือกก็ไม่เป็น ก็เห็นหลายๆ คนที่เขารักประชาธิปไตยก็ยังลงสมัครกันได้ทุกๆ ปี แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งก็ตาม มันมีแพ้ชนะเป็นธรรมดา

สรุปว่าวิธีการเลือกตั้งมันน่าจะดีอยู่แล้วตามหลักประชาธิปไตยแต่สำคัญอยู่ที่บรรดาสมาชิกนั่นแหละที่จะต้องคิดพิจารณาปรับปรุงตนเองทั้งในการเลือกใครดี หรือไม่ก็เสียสละมาลงสมัครให้เพื่อนเลือกตั้งก็จะได้รู้และเข้าใจประชาธิปไตยได้ยิ่งขึ้นก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น