วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ยักษ์ล้มเพราะอะไร?


ยักษ์ล้มเพราะอะไร?


คำถามหนึ่งที่ผมได้รับบ่อยมากในช่วงหลังก็คือทำไมบริษัทที่เคยรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เคยเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมตนเอง ได้เดินทางมาถึงกัลปวสาน หรือ ถึงขั้นล้มละลาย และสูญหายไปจากโลกใบนี้? ยิ่งในช่วงหลังเรามีตัวอย่างให้เห็นกันอย่างมากมาย เช่นในรอบสองปีที่ผ่านมาก็มีกรณีของ Blockbuster (ผู้ให้บริการเช่าดีวีดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) หรือ Kodak (คงไม่ต้องเขียนถึงอดีตที่ยิ่งใหญ่ของโกดักนะครับ) หรือ Borders Book Store (ร้านหนังสือที่มีจำนวนสาขาและขนาดรวมแล้วใหญ่ที่สุดในโลก) ที่ได้เดินทางมาถึงจุดอวสาน และถ้าเอ่ยชื่อบริษัทบางบริษัทที่มีความเสี่ยงต่อการเดินทางถึงจุดเดียวกัน (ถ้าไม่มีการแก้ไขหรือปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น) อาทิเช่น Best Buy, RIM (ผู้ผลิตเครื่อง Blackberry) Yahoo หรือ Nintendo เป็นต้น

เมื่อศึกษายักษ์ที่ล้มนั้น ก็พอจะแยกสาเหตุของความล้มเหลวออกมาได้เป็น 2 ประการครับ ประการแรกคือกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานที่ใช้อยู่ ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปครับ คำถามหนึ่งที่ผมมักจะถามผู้บริหารองค์กรต่างๆ เสมอก็คือ ‘Are we still doing the right thing?’ หรือ เรายังทำในสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า?” เป็นไปได้ไหมครับว่ากลยุทธ์ และวิธีการดำเนินงานที่เคยทำให้องค์กรยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จในอดีต อาจจะไม่เหมาะสมต่อสภาพการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

               ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธุรกิจนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากเทคโนโลยี พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป คู่แข่งขันใหม่ๆ ที่เข้ามา กฎหมายที่เปลี่ยนไป หรือ แม้กระทั่งสถานการณ์การเมือง ดังนั้นสิ่งที่เคยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในอดีตอาจจะไม่ได้ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต อีกทั้งที่แน่ๆ คืออนาคตนั้นไม่เหมือนอดีต

ดังนั้นผู้บริหารองค์กรจะต้องคอยตั้งคำถาม ถามตนเองตลอดเวลาครับว่า สิ่งที่องค์กรกำลังทำอยู่นั้นเหมาะสมต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่? กรณีของ Blockbuster นั้นที่ล้มเหลวเนื่องจากมีคู่แข่งใหม่เข้ามา  (Netflix) ด้วยเทคโนโลยีและวิธีการดำเนินธุรกิจที่เด่นล้ำกว่า หรือ กรณีของ Kodak นั้นก็เกิดจากความยึดติด ยึดมั่นต่อความสำเร็จของธุรกิจฟิล์มในอดีตจนทำให้ไม่กล้ากระโจนเข้าสู่กระแสดิจิตอล ทั้งๆ ที่โกดักเป็นผู้คิดค้นกล้องดิจิตอลขึ้นเป็นรายแรกของโลก และมองเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หรือ กรณีของ Borders นั้นก็เนื่องจากเทคโนโลยี คู่แข่ง และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปในการอ่านหนังสือ

สาเหตุประการที่สองนั้นเกิดขึ้นจากการที่อดีตบริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จมาในอดีต ทำให้ผู้บริหารเกิดความเชื่อมั่นต่อความสามารถและศักยภาพทั้งของตนเองและของบุคลากรในองค์กร ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าความเชื่อมั่นที่มีมากเกินไปก็จะกลายเป็นความหลงผิด และยึดติด ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารเริ่มมีความคิดว่า เมื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจหนึ่งก็จะสามารถนำความรู้ ความสามารถดังกล่าวขยายเข้าสู่ธุรกิจอื่นได้ ดังนั้นอดีตยักษ์หลายๆ แห่งจึงมักจะไม่พอใจต่อความสำเร็จที่ตนเองมีอยู่ แต่จะเริ่มขยายตัวทั้งในธุรกิจเดิมและเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ตนเองอาจจะไม่มีความชำนาญหรือชำนาญน้อย

               การขยายตัวนั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะครับ เพียงแต่การขยายตัวด้วยความหลงผิดหรือเข้าใจในตนเองผิดจะกลายเป็นชนวนให้องค์กรล้มเหลวได้ เราได้พบเห็นองค์กรหลายแห่งที่ คิดการใหญ่เกินตัวแล้วเข้าไปทำในสิ่งที่เกินศักยภาพและความสามารถของตนเอง จนสุดท้ายความสำเร็จเดิมที่มีอยู่ก็ไม่สามารถช่วยประคับประคองความผิดพลาดนั้นไว้ได้

               จากบทเรียนขององค์กรที่เคยประสบความสำเร็จแล้วมาล้มเหลวภายหลังนั้น นอกเหนือจากจะเป็นบทเรียนทางด้านการบริหารองค์กรแล้ว ผมว่ายังสามารถเป็นบทเรียนในการบริหารประเทศและบริหารตนเองได้อีกด้วยครับ ประเด็นสำคัญคือต้องอย่าลืมว่าทั้งประเทศ องค์กร และบุคคล ต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลาครับ ถ้าเรายังยึดมั่นกับความสำเร็จหรือสิ่งที่ทำให้เราสำเร็จมาในอดีต ก็อาจจะทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน สังเกตซิครับทำไมเราถึงชอบกล่าวกันว่าผู้ที่เรียนเก่ง ไม่จำเป็นต้องทำงานเก่งเสมอไป ก็เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน และปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

ที่มา: รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ ; กรุงเทพธุรกิจ ;25 .. 55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น