วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“ไม่ได้เป็นหนี้ แต่มีผู้มาทวง”


“ไม่ได้เป็นหนี้ แต่มีผู้มาทวง”

สงวน วุฒิกรวงศา (7122)

          เป็นเรื่องแปลกแต่จริงไม่อิงนิยาย “ไม่ได้เป็นหนี้แต่มีผู้มาทวง” ไม่ได้เป็นหนี้ไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ และหรือหนี้บัตรเครดิตแต่อย่างใด เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ในสังคมหลากหลายที่เต็มไปด้วยคนดี และคนไม่ดีปะปนกันอยู่ นั่นก็คือมีพวกทุจริตมิจฉาชีพชอบแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยฉ้อฉลกลอุบายหลอกลวงขู่เข็ญผู้ที่ด้อยกว่าด้านใดด้านหนึ่งหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคืออยู่ๆ ก็มีเอกสารสำนักงานกฎหมาย 2 สำนักงานยื่นโนติส (notice) หรือข้อเรียกร้องมาว่าเป็นหนี้ค่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดิจิตอลโฟนเป็นเงิน 23,232.91 บาท รายหนึ่ง และอีกรายหนึ่งก็เรียกร้องให้ชำระหนี้แบบเดียวกันเป็นเงิน 23,593.50 บาท ลงชื่อทนายความผู้รับมอบอำนาจ โดยเน้นให้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

          เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมดาน่าตกใจมาก เป็นไปได้อย่างไรกัน ไม่ได้เป็นหนี้ดังกล่าวแต่อย่างใด ทำไมจึงมาทวง ผิดตัวผิดคนหรือเปล่า ก็เกิดความหวาดกลัววิตกกังวลว่าจะทำอย่างไรดี ครั้นจะชำระหนี้ตามที่เรียกร้องก็เป็นเงินมิใช่น้อย สวนทางกับรายได้ที่ไม่มาก พอกินพอใช้ไปวันๆ เท่านั้น ผู้เขียนเองอยู่ในฐานะที่จะต้องหาทางช่วยว่าจะหาทางออกอย่างไรให้หลุดพ้นหรือผ่อนหนักเป็นเบา มีข้อเท็จจริงอิงข้อกฎหมายใดที่จะใช้ได้ก็พยายามเต็มที่ แต่ก็มองไม่เห็นช่องเลย และแล้วก็คิดได้ พากันไปพบรองผู้กำกับท่าหนึ่งที่ สน.โคกคราม ที่พอรู้จักกันบ้างให้นามบัตรไว้เป็นการส่วนตัวจะดีกว่า หลังจากพูดคุยกันเป็นที่เข้าใจดีแล้ว ท่านได้แนะนำให้แจ้งความร้องทุกข์ว่าไม่ได้เป็นหนี้ตามที่เรียกร้องแต่อย่างใด (ไม่มีนิติสัมพันธ์กัน) แล้วให้แฟกซ์หรือสำเนาร้องทุกข์ไปยังสำนักงานทั้งสองที่ทวงหนี้มา แล้วก็ปฏิบัติตามที่ท่านรองผู้กำกับแนะนำ เป็นเวลานานเรื่องก็เงียบไปไม่มีอะไรตามมาอีก ก็แสดงว่า ทุกข์ไม่หม่นหมองเพราะ “ร้องทุกข์”

          ลักษณะอย่างนี้เป็นการขู่เข็ญกันชัดๆ เข้าลักษณะ “กรรโชก” หรือ “กรรโชกทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 ความว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” (เฉพาะวรรคแรกเท่านั้น) ไม่ได้กล่าวถึงวรรคที่สองที่มีความรุนแรงกว่า มีการใช้อาวุธขู่เข็ญ

          ประกอบด้วยคำพิพากษาฏีกาที่ 1945/2514 เป็นการคิดพิจารณาความว่า “จำเลยได้ขู่เข็ญข่มขืนใจโจทก์ก็ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง ว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนั้น ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นบุคคลทีสาม และได้ขู่เข็ญข่มขืนใจโจทก์ว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเสียหาย จนโจทก์ยอมจะให้เงินแก่จำเลยตามที่ถูกขู่เข็ญ ดังนี้ถือได้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกขู่เข็ญเป็นผู้เสียหายตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องคดีในความผิดฐานกรรโชกและฐานรีดเอาทรัพย์”

          ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาเรียนให้สมาชิกทราบก็เพื่อชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาด้วยตนเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ การแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นหนี้จริงๆ เท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน อาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 มีโทษถึงจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนะครับ ถือว่าเป็นผิดต่อเจ้าพนักงาน หากมีการฟ้องร้องขึ้น!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น