วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปวารณา : วันออกพรรษา


ปวารณา : วันออกพรรษา

โชติญาโณนามะ นวก’27 วัดชลประทาน

            ปวารณา เป็นคำกริยา แปลว่า ยอมให้ว่ากล่าว, ยอมให้ตักเตือน, ยอมให้ใช้, ยอมให้ขอ, ยอมให้ด้วยความเต็มใจ  ถ้าใช้เป็นคำนาม เป็นชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เรียกว่า วันปวารณา หรือวันมหาปวารณา

          ในวันมหาปวารณานี้พระสงฆ์ทุกรูปจะกล่าวปวารณาคือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้ โดยว่าเป็นภาษาบาลีดังนี้ : “สังฺฆมฺ ภนฺเต ปวาเรมิ ทิฎเฐินวา สุเตนวา ปริสงฺ กายวา; วทนฺตุมํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฎิกฺกริสฺสามิ  ทุติยมฺปิ ภนฺเต สังฺฆํ ปวาเรมิ,............ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรามิ,........” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม  ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกับข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดี เอ็นดู เมื่อข้าพเจ้ามองเห็นก็จักแก้ไข  แม้ครั้งที่สอง....แม้ครั้งที่สาม....” นี่เป็นเรื่องของสงฆ์เขาต้องทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือวันออกพรรษา

            ชาวพุทธควรทำอะไรในวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เฉยๆ เพราะไม่หยุดราชการเหมือนวันเข้าพรรษา แต่ก็เป็น “วันพระใหญ่” ด้วยคือ ขึ้น 15 ค่ำก็ต้องไปวัด “ทำบุญ ทำทาน” กันตามระเบียบ บ้างก็คือศีลภาวนากันอย่างเคร่งครัดกว่าปกติธรรมดา ชาวพุทธแท้ๆ มักจะเห็นว่าพระหายหน้าไปไหน ไม่ค่อย “เร่ร่อน” กันตั้ง 3 เดือน.......... รู้ว่าพระต้องคร่ำเคร่งปฏิบัติธรรมกัน เพราะฉะนั้นเมื่ออกพรรษาใหม่ๆ ก็น่าจะ “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” ก็เลยนิยมไปทำบุญที่วัดกันเยอะเหมือนกัน เชื่อว่าได้บุญเยอะกว่ามั้ง

            มีประเพณีอย่างหนึ่งเรียนกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรดาวดึงส์ คือการตักบาตรในวันออกพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก (วันเทโวโรหณะ) ทางวัดก็จัดกันใหญ่โตโดยเฉพาะวัดที่อยู่บนเนินเขาสูงๆ ดูเหมือนพระลงบันไดมาจากสวรรค์ยังงั้นแหละ ก็ว่ากันไป

            แต่ที่หนักกว่านี้คือภายหลังจากออกพรรษา 1 เดือน คือถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ก็เป็นเทศกาลทอดกฐิน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็เป็นการถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาเท่านั้น แต่ปัจจุบันนิยมการถวายของอื่นๆ กันเยอะแยะ จำนวนมาก เรียกว่า “บริวารกฐิน” โดยเฉพาะ “เงินตรา” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดไปแล้ว ยังสงสัยว่าเป็นการ “ทำบุญ” หรือทำให้ “เสียพระ” กันแน่ เพราะแค่ศีลข้อที่ 10. ชาตรูป รชต ปฏิคฺ คหณา (เว้นจากการรับทองและเงิน) แค่เณรยังห้ามเลย ต้องช่วยกันคิดว่าการถวายเงินพระนั้นแท้จริงได้บุญหรือบาปกันแน่ เพราะเป็นการส่งเสริมให้พระ-เณรผิดศีลอย่างแน่นอนที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น